ข้อพิจารณาสำหรับผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในการใช้งานเว็บไซต์/แอปพลิเคชันต่างๆ

ปรับปรุงล่าสุด ปรับปรุงล่าสุด27 มกราคม 2022

ปัจจุบัน การใช้งานอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญในการใช้ชีวิตของผู้คนมากขึ้น ไม่ว่าการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้แก่

  • การใช้ประโยชน์ส่วนตัว เช่น การโทรศัพท์ด้วยเสียงหรือวิดีโอผ่านแอปพลิเคชันในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน การสนทนาพูดคุยด้วยการพิมพ์ข้อความในแอปพลิเคชัน การใช้แอปพลิเคชันสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ในการเข้าสังคม พัฒนา และเชื่อมโยงความสัมพันธ์
  • การใช้ประโยชน์ทางการค้าหรือทางธุรกิจ เช่น การใช้ระบบประมวลผลผ่านอินเทอร์เน็ต (Cloud Computing) ในการทำงานเพื่อเพิ่มความคล่องตัวและรวดเร็วในการทำงาน การใช้ระบบประมวลผลข้อมูลจากหลายแหล่งที่มา การใช้แอปพลิเคชันสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ในการประชาสัมพันธ์ โฆษณา ติดต่อประสานงานระหว่างธุรกิจกับลูกค้า/ผู้ใช้บริการ
  • การใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวม เช่น การใช้แอปพลิเคชันสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ในการประชาสัมพันธ์การให้หรือขอรับความช่วยเหลือในด้านต่างๆ การรับบริจาคต่างๆ

โดยที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการไม่มี หรือไม่ใช้อินเทอร์เน็ตอาจทำให้การใช้ชีวิต การประกอบธุรกิจ หรือการเข้าถึงการช่วยเหลือ มีความสะดวกสบาย หรือมีความรวดเร็วลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่าในปัจจุบันผู้คนต่างจำเป็นต้องใช้และพึ่งพาอินเทอร์เน็ตไม่ว่าเพื่อประโยชน์ในด้านใดๆ

เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน คืออะไร

ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วไปอาจรู้จักเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันเป็นอย่างดี อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ใช้งานบางท่าน (เช่น ผู้เริ่มต้นใช้งานใหม่) อาจยังไม่รู้จัก หรือไม่เข้าใจถึงเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันอย่างดีนัก โดยที่อาจอธิบายถึงลักษณะของเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันอย่างสั้นได้ ดังต่อไปนี้

(ก) เว็บไซต์ (Website) คือ หน้าที่ประกอบด้วยหน้าเว็บเพจต่างๆ ที่เชื่อมโยงกัน โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำขึ้นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเจ้าของหรือผู้สร้างเว็บไซต์ เช่น

  • การนำเสนอข้อมูลข่าวสารต่างๆ เช่น เว็บไซต์ของสำนักข่าวต่างๆ
  • การให้บริการขายสินค้า หรือให้บริการ เช่น เว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ต่างๆ
  • การนำเสนอข้อมูลทางวิชาการ เช่น เว็บไซต์ของหน่วยงานราชการต่างๆ

เว็บไซต์ของเราเป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการสร้างเอกสารทางกฎหมาย (เช่น สัญญา หรือหนังสือต่างๆ) ของผู้ใช้งานอย่างปลอดภัย รวมถึงยังมีการนำเสนอข้อมูลทางกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้งานในรูปแบบของคู่มือทางกฎหมายอีกด้วย

(ข) แอปพลิเคชัน หรือที่มักเรียกสั้นๆ ว่า แอป คือ ซอฟต์แวร์ หรือโปรแกรมที่ใช้งานบนคอมพิวเตอร์หรือใช้งานบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งถูกออกแบบให้ใช้งานหรือใช้ประโยชน์ได้ตามวัตถุประสงค์ของเจ้าของหรือผู้สร้างแอปพลิเคชันซึ่งส่วนใหญ่ คือการตอบสนองความต้องการหรืออำนวยควาสะดวกให้แก่ผู้ใช้งาน เช่น

  • แอปพลิเคชันประมวลผลข้อมูล เช่น แอปพลิเคชันตารางข้อมูล แอปพลิเคชันบันทึกบัญชีใช้จ่ายต่างๆ
  • แอปพลิเคชันทางการเงิน เช่น แอปพลิเคชันของธนาคาร หรือของตลาดหลักทรัพย์
  • แอปพลิเคชันประมวลผลสื่อ เช่น แอปพลิเคชันแต่ง หรือตัดต่อภาพ แอปพลิเคชันเล่นเพลงหรือวิดีโอ
  • แอปพลิเคชันเพื่อความบันเทิง เช่น เกมต่างๆ
  • แอปพลิเคชันสำหรับติดต่อสื่อสาร เช่น แอปพลิเคชันสนทนา แอปพลิเคชันของสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ
  • แอปพลิเคชันเพื่ออรรถประโยชน์ เช่น แอปพลิเคชันจับเวลา นาฬิกาปลุก แผนที่นำทาง

จากที่กล่าวข้างต้น ผู้ใช้งานหลายท่านอาจจะพอเห็นรูปแบบการใช้ประโยชน์ของเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่างๆ ชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ดี ในการใช้งานเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่างๆ เหล่านี้ล้วนก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เว็บไซต์และแอปพลิเคชันจะต้องใช้ข้อมูลของผู้ใช้งานในการประมวลผลต่างๆ โดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น ผู้ใช้งานมีข้อควรพิจารณาที่สำคัญที่น่าพิจารณาเกี่ยวกับการใช้งานเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ดังต่อไปนี้

(1) ข้อมูลส่วนบุคคล

ปัจจุบันการเก็บ รวบรวม และใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน ถูกเป็นที่พูดถึงอย่างมากในประเทศไทย เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลในประเทศไทย และผู้ใช้งานให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนบุคคล หรือความเป็นส่วนตัวมากขึ้น โดยที่ ข้อมูลส่วนบุคคล คือ ข้อมูลที่สามารถระบุตัวบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลนั้นได้ โดยอาจแบ่งเป็น

  • ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป เช่น ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์ อายุ วุฒิการศึกษา งานที่ทำ ตำแหน่งพิกัด หรือ
  • ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว (Sensitive Data) เช่น เชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็นทางการเมือง ความเชื่อ (ลัทธิ ศาสนา ปรัชญา) พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสุขภาพ ความพิการ พันธุกรรม ข้อมูลชีวภาพ ข้อมูลภาพจำลองใบหน้า ม่านตา หรือลายนิ้วมือ ภาพถ่าย เสียง สหภาพแรงงานของผู้ใช้งาน

ผู้ใช้งานมักพบว่าในการเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ครั้งแรก หรือการเข้าใช้งานแอปพลิเคชันครั้งแรก ผู้ใช้งานมักจะถูกบังคับให้ต้องกด "ยอมรับ" "ยินยอม" หรือ "ตกลง" ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัวของเว็บไซต์และแอปพลิเคชันนั้นๆ ทั้งนี้ เนื่องจากโดยทั่วไป ตามกฎหมายดังกล่าว เว็บไซต์และแอปพลิเคชันจะสามารถเก็บ รวบรวม และใช้ข้อมูลส่วนบุคคลได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของผู้ใช้งานแล้วเท่านั้น โดยผู้ใช้งานจะต้องมีสิทธิทราบถึง วัตถุประสงค์แห่งการเก็บ รวบรวม และใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานที่จะถูกเก็บ รวบรวม และใช้ ระยะเวลาในการเก็บรวบรวมข้อมูล การเชื่อมโยงข้อมูลกับผู้ให้บริการบุคคลที่สาม สิทธิพื้นฐานของผู้ใช้งานหรือเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

ในบางครั้งที่ผู้ใช้งานกด "ไม่ยอมรับ" "ไม่ยินยอม" หรือ "ปฏิเสธ" นโยบายความเป็นส่วนตัวของเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ผู้ใช้งานมักไม่สามารถเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ หรือเข้าใช้งานแอปพลิเคชันนั้นๆ ได้ ในกรณีเช่นนี้ ผู้ใช้งานอาจมีทางเลือก เช่น

  • เลือกเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ หรือเข้าใช้งานแอปพลิเคชันอื่นที่มีเนื้อหา หรือการใช้งานที่ใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากันที่ไม่มีการเก็บ รวบรวม และใช้ข้อมูลส่วนบุคคล หรือมี แต่ให้สิทธิผู้ใช้งานในการตัดสินใจได้ว่าจะให้ความยินยอม หรือไม่ก็ได้
  • ในกรณีที่ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นสาระสำคัญในการเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ หรือเข้าใช้งานแอปพลิเคชันนั้นๆ (เช่น การสมัครสมาชิกที่ต้องใช้ชื่อ นามสกุล หรือที่อยู่ในการติดต่อ) ผู้ใช้งานอาจจำเป็นต้องยอมรับนโยบายความเป็นส่วนตัวดังกล่าว อย่างไรก็ดี ในกรณีเช่นนี้ ผู้ใช้งานควรศึกษาและตรวจสอบนโยบายความเป็นส่วนตัวของเว็บไซต์และแอปพลิเคชันดังกล่าวให้ชัดเจนว่าเว็บไซต์และแอปพลิเคชันนั้น มีขอบเขตในการเก็บ รวบรวม และใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานอย่างไรบ้าง เช่น
    • เว็บไซต์และแอปพลิเคชันจะเก็บข้อมูลส่วนบุคคลใดบ้าง
    • เว็บไซต์และแอปพลิเคชันจะนำข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวไปใช้ทำอะไรบ้าง
    • เว็บไซต์และแอปพลิเคชันจะเก็บข้อมูลส่วนบุคคลไว้เป็นระยะเวลานานเท่าใด
    • เว็บไซต์และแอปพลิเคชันจะมีการส่งต่อซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลให้บุคคลภายนอกหรือบุคคลที่ 3 หรือไม่ อย่างไร และในกรณีใด
    • ช่องทางและวิธีการในการถอนความยินยอมของผู้ใช้งาน

(2) ทรัพย์สินทางปัญญา

ด้วยประโยชน์ของเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่ทำงานบนระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้การผลิต เผยแพร่ ส่งต่อ หรือทำซ้ำซึ่งเนื้อหาต่างๆ สามารถทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ในทางกลับกันหากเนื้อหาที่ผลิต เผยแพร่ ส่งต่อ หรือทำซ้ำนั้นเป็นเนื้อหาที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคลอื่น ผู้ใช้งานที่การผลิต เผยแพร่ ส่งต่อ หรือทำซ้ำเนื้อหานั้นก็อาจมีความรับผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาได้ ไม่ว่าเนื้อหานั้นจะอยู่ในรูปแบบใด หรือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทใด ก็ตาม เช่น

  • การละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น การนำรูปภาพ บทความ เนื้อหา เสียงเพลง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ วิดีโอภาพเคลื่อนไหว หรือสื่อผสมต่างๆ ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือนำไปใช้นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ที่อนุญาต
  • การละเมิดเครื่องหมายการค้า เช่น การลอกเลียนแบบตรา ยี่ห้อ ชื่อสินค้า บริการ หรือกิจการ
  • การละเมิดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร เช่น การลอกเลียนแบบสิ่งประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ กรรมวิธี หรือการออกแบบที่ขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรไว้แล้ว หรือสินค้าปลอม
  • การละเมิดความลับทางการค้า เช่น การนำสูตรอาหาร สูตรการผลิตที่เป็นความลับไปใช้ หรือเปิดเผยโดยไม่ได้รับอนุญาต

ในกรณีที่ผู้ใช้งานพบการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ใช้งานอาจจัดทำหนังสือแจ้งเบาะแสการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อแจ้งเบาะแสและบอกกล่าวรายละเอียดการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาต่อเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาหรือตัวแทน หรือในกรณีที่ผู้ใช้งานพบว่าตนถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ใช้งานอาจจัดทำหนังสือบอกกล่าวให้ยุติการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อแจ้ง บอกกล่าว และตักเตือนไปยังผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาให้หยุดหรือยุติการกระทำละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวนั้น

(3) ขอบเขตและข้อจำกัดการใช้งาน

ในบางครั้ง ผู้ใช้งานมักพบว่านอกจาก นโยบายความเป็นส่วนตัวของเว็บไซต์และแอปพลิเคชันแล้ว ในการเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ครั้งแรก หรือการเข้าใช้งานแอปพลิเคชันครั้งแรก ผู้ใช้งานมักจะถูกบังคับให้ต้องกด "ยอมรับ" "ยินยอม" หรือ "ตกลง" ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้เว็บไซต์/แอปพลิเคชันด้วยเช่นกัน

โดยทั่วไปเจ้าของเว็บไซต์และแอปพลิเคชันมักกำหนดข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้เว็บไซต์/แอปพลิเคชัน เอาไว้เพื่อเป็นกฎเกณฑ์ในการใช้งานเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของผู้ใช้งาน เพื่อให้ผู้ใช้งานรับทราบ เข้าใจ และสามารถนำไปปฏิบัติตาม โดยมีวัตถุประสงค์ต่างๆ เช่น

  • เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถใช้งานหรือใช้ประโยชน์ของเว็บไซต์และแอปพลิเคชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น คำแนะนำในการใช้งาน
  • เพื่อให้การใช้งานเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของผู้ใช้งาน ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ตัวผู้ใช้งานเอง หรือต่อบุคคลอื่นๆ เช่น การกำหนดสิทธิการเผยแพร่เนื้อหาต่างๆ การจำกัดอายุผู้ใช้งาน การห้ามใช้งานเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันในลักษณะที่ก่อให้เกิดการทำงานช้ากว่าปกติและทำให้ระบบมีการใช้ทรัพยากรสูง (Server Load)
  • เพื่อป้องกันการใช้งานเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของผู้ใช้งานที่ผิดหรือละเมิดกฎหมาย เช่น การกำหนดข้อห้ามการใช้งาน
  • เพื่อกำหนดการจำกัดความรับผิดหรือการสงวนสิทธิ์ต่างๆ ของเจ้าของเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน เช่น การจำกัดความรับผิดเกี่ยวกับสินค้าและบริการที่อยู่ในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน (Limitation of Product/Service Liability) เงื่อนไขการรับประกัน (Warranty)
  • เพื่อกำหนดสภาพบังคับ โทษ หรือผล ในกรณีที่ผู้ใช้งานไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้เว็บไซต์/แอปพลิเคชันในกรณีต่างๆ เช่น การเตือน (Notice) จำกัดสิทธิการเข้าถึงและสิทธิการใช้เว็บไซต์หรือการใช้แอปพลิเคชัน (Block/Ban) ยกเลิกบัญชีสมาชิก (Account Delete) หรือการปรับเป็นตัวเงิน (Penalty)

เจ้าของเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่ต้องการกำหนดขอบเขตและข้อจำกัดการใช้งานเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ตามที่กล่าวข้างต้นอาจจัดทำข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้เว็บไซต์/แอปพลิเคชันเพื่อให้ผู้ใช้งานซึ่งเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ หรือเข้าใช้งานแอปพลิเคชันครั้งแรกศึกษาและยอมรับก่อนการเข้าเยี่ยมชมหรือเข้าใช้งาน

(4) ความต้องการของระบบ

ในกรณีที่เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันมีการออกแบบที่มีความซับซ้อน และอาจส่งผลให้เว็บไซต์และแอปพลิเคชันมีความต้องการของระบบและอุปกรณ์สูง เจ้าของเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน อาจกำหนดความต้องการขั้นต่ำของระบบ (Minimum System Requirements) และ/หรือความต้องการขั้นต่ำของอุปกรณ์ (Minimum Hardware Requirements) ในการเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์หรือเข้าใช้งานแอปพลิเคชันนั้นๆ ทั้งนี้เพื่อให้

  • การเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์หรือเข้าใช้งานแอปพลิเคชันมีประสิทธิภาพตามที่เจ้าของเว็บไซต์และแอปพลิเคชันคาดหวัง
  • ก่อให้เกิดประสบการณ์ที่ดีในการเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์หรือเข้าใช้งานแอปพลิเคชันของผู้ใช้งาน
  • ป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับระบบหรืออุปกรณ์ของผู้ใช้งานเนื่องจากการใช้ทรัพย์กรที่มากเกินไป (Overload)

(5) การซื้อขายสินค้าและ/หรือบริการ

ในกรณีที่มีการเสนอขายสินค้าหรือบริการบนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน (e-Commerce) หรือการใช้เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันเป็นตลาดแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้าของสมาชิก (e-Marketplace) ผู้ใช้งานซึ่งเป็นผู้ซื้อ หรือผู้ใช้บริการอาจมีข้อกังวลว่าหากมีการทำธุรกรรมภายในเว็บไซต์และแอปพลิเคชันนั้นแล้ว (เช่น ซื้อสินค้า สมัครสมาชิกบริการรายเดือน) หากเจ้าของเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ผู้ขายหรือผู้ให้บริการบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชันนั้นปฏิบัติผิดสัญญาซื้อขาย หรือสัญญาบริการ แล้วแต่กรณี ผู้ใช้งานจะสามารถอ้างอิงและเรียกร้องตามธุรกรรมดังกล่าวที่ทำขึ้นในเว็บไซต์และแอปพลิเคชันได้ หรือไม่

ในกรณีข้างต้น ผู้ใช้งานย่อมสามารถอ้างอิงและเรียกร้องตามธุรกรรมดังกล่าวที่ทำขึ้นในเว็บไซต์และแอปพลิเคชันได้ ทั้งนี้เนื่องจาก กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้กำหนดรับรองให้การทำสัญญาในลักษณะดังกล่าวมีผลผูกพันเหมือนกับการจัดทำสัญญาแบบดังเดิมบนแผ่นกระดาษ โดยเมื่อสัญญาเกิดขึ้นแล้วย่อมก่อให้เกิดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของคู่สัญญาตามเงื่อนไขที่คู่สัญญาได้แสดงเจตนาตกลงกันไว้นั้น เช่น ผู้ขายมีหน้าที่ต้องจัดส่งสินค้าภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าสินค้าตามอัตรา วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดตกลงกัน ผู้รับบริการ/ผู้ว่าจ้างต้องชำระค่าจ้าง ผู้ให้บริการ/ผู้รับจ้างต้องเริ่มทำงานและส่งมอบงานภายในเวลาที่กำหนด

ผู้ใช้งานอาจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดทำสัญญาผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน) เพิ่มเติมได้ที่ คู่มือทางกฎหมาย: การจัดทำสัญญาและลงนามออนไลน์ (e-Contract) จะมีผลผูกพัน หรือไม่ อย่างไรบนเว็บไซต์ของเรา

(6) ความรับผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการใช้งานอื่นๆ

ในกรณีที่ผู้ใช้งานสามารถผลิต เผยแพร่ ส่งต่อ หรือทำซ้ำซึ่งเนื้อหาต่างๆ ได้ภายในเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน เช่น การแสดงความคิดเห็น หรือโพสต์เนื้อหาต่างๆ ได้ด้วยบัญชีผู้ใช้ของผู้ใช้งานเองในเว็บไซต์และแอปพลิเคชันประเภทสื่อสังคมออนไลน์ ในกรณีเช่นนี้ผู้ใช้งานอาจมีข้อพิจารณาเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

(ก) ผู้ใช้งานอาจมีความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ได้ ในกรณีต่างๆ เช่น

  • ผู้ใช้งานส่งเนื้อหาแก่บุคคลอื่นอันก่อให้เกิดการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข
  • ผู้ใช้งานส่งเนื้อหาแก่บุคคลอื่นอันมีลักษณะเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับเนื้อหาดังกล่าว
  • ผู้ใช้งานผลิต เผยแพร่ ส่งต่อ หรือทำซ้ำ โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงซึ่งเนื้อหาที่บิดเบือน ปลอม หรือเป็นเท็จอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน
  • ผู้ใช้งานผลิต เผยแพร่ ส่งต่อ หรือทำซ้ำซึ่งเนื้อหาที่เป็นเท็จอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
  • ผู้ใช้งานผลิต เผยแพร่ ส่งต่อ หรือทำซ้ำซึ่งเนื้อหาที่มีลักษณะอันลามกและประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงเนื้อหานั้นได้
  • ผู้ใช้งานผลิต เผยแพร่ ส่งต่อ หรือทำซ้ำซึ่งเนื้อหาที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่นซึ่งถูกสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลง อันอาจก่อให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย

(ข) ผู้ใช้งานอาจมีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา เช่น

  • ผู้ใช้งานผลิต เผยแพร่ ส่งต่อ หรือทำซ้ำซึ่งเนื้อหาที่ใส่ความผู้อื่นอันอาจก่อให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง

อย่างไรก็ดี หากเนื้อหาดังกล่าวเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต

(ก) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(ข) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(ข) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(ง) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม

ผู้ใช้งานดังกล่าวก็อาจไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทในกรณีดังกล่าว

สรุป

การใช้งานเว็บไซต์และแอปพลิเคชันผ่านระบบอินเทอร์เน็ตล้วนก่อให้เกิดประโยชน์มากมายและหลากหลายด้านแก่ผู้ใช้งาน ในขณะเดียวกันผู้ใช้งานก็มีข้อควรระวังที่ควรพิจารณาในการใช้งานเว็บไซต์และแอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใช้งานได้ รวมถึงในบางกรณี ผู้ใช้งานอาจมีความรับผิดตามกฎหมายหรือโทษตามกฎหมายด้วยหากใช้งานเว็บไซต์และแอปพลิเคชันโดยไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ดี หากผู้ใช้งานพิจารณาและปฏิบัติโดยสอดคล้องตามคู่มือทางกฎหมายฉบับนี้ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย หรือความรับผิดดังกล่าวได้

แบบฟอร์มและตัวอย่างต่าง ๆ ที่สามารถดาวน์โหลดได้ในรูปแบบ Word และ PDF

ให้คะแนนคู่มือฉบับนี้