การซื้อขายหรือโอนกิจการ สามารถใช้วิธีการใดได้บ้าง และวิธีใดดีที่สุด

ปรับปรุงล่าสุด ปรับปรุงล่าสุด8 มกราคม 2020
คะแนน คะแนน 4.8 - 62 คะแนนโหวต

ปัจจุบัน กิจการหรือธุรกิจมีการแข่งขันทางธุรกิจที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเวลาเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการแข่งขันทางธุรกิจทำให้กิจการมีข้อได้เปรียบคู่แข่งเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ จึงมักพบเห็นการที่ผู้ประกอบธุรกิจเลือกที่จะซื้อกิจการหรือธุรกิจที่ดำเนินการอยู่แล้วแทนที่การเริ่มกิจการหรือธุรกิจใหม่ทั้งหมด โดยการซื้อกิจการอาจมีข้อได้เปรียบจากการเริ่มต้นกิจการใหม่ในข้อจำกัดด้านเวลาที่น่าพิจารณา ดังต่อไปนี้

  • ลดเวลาในการสร้างความเชื่อมั่น ความรู้จัก ความนิยม และฐานลูกค้าของกิจการ เช่น การซื้อเครื่องหมายการค้า ชื่อทางการค้า หรือชื่อของกิจการ
  • ลดเวลาในการค้นคว้า ศึกษา และพัฒนาองค์ความรู้ กรรมวิธีต่างๆ รวมถึงความลับทางการค้า เช่น การซื้อสูตรอาหาร เทคนิคหรือทักษะในการผลิตสินค้า กระบวนการ วิธีการผลิตสินค้า และข้อมูลฐานลูกค้าของกิจการ
  • ลดเวลาในการจัดหาและจัดซื้อทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการ รวมถึงการหาทำเลหรือสถานที่ในการประกอบกิจการ เช่น การซื้ออาคาร สถานที่ สำนักงาน วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ สินค้าต่างๆ ของกิจการ
  • ลดกระบวนการ ระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในการสรรหาและฝึกอบรมพนักงานให้มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ ความชำนาญที่เหมาะสมกับกิจการ เช่น การซื้อตัวพนักงาน และ
  • ผู้ประกอบกิจการอาจใช้การซื้อกิจการของคู่แข่งเพื่อเป็นการกำจัดคู่แข่งหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือลดระยะเวลาในการเพิ่มหรือสร้างฐานลูกค้าให้กับกิจการของผู้ซื้อกิจการอีกด้วย

โดยที่ การซื้อกิจการ หมายถึง การที่ผู้ซื้อกิจการได้มาซึ่งอำนาจควบคุมกิจการที่ต้องการจะซื้อ (กิจการเป้าหมาย) นั้นอย่างเด็ดขาดหรืออาจกล่าวได้ว่าได้มาซึ่งความเป็นเจ้าของในกิจการดังกล่าว โดยทั่วไปมีวิธีการได้มาซึ่งกิจการ 2 วิธีด้วยกัน ดังต่อไปนี้

การซื้อกิจการโดยการซื้อสินทรัพย์สำคัญในการดำเนินกิจการ

การซื้อกิจการโดยการซื้อสินทรัพย์สำคัญในการดำเนินกิจการ คือการที่ผู้ซื้อกิจการเลือกที่จะเข้าซื้อทรัพย์สินหรือสิทธิต่างๆ ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการเป้าหมายจากผู้ประกอบกิจการเดิม ไม่ว่าจะเลือกซื้อเพียงบางส่วนหรือเหมาซื้อทั้งหมด ดังต่อไปนี้

  • ทรัพย์สิน เช่น อาคาร สถานที่ สำนักงาน วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ วัตถุดิบ หรือสินค้าต่างๆ
  • ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ความลับทางการค้า เครื่องหมายการค้า ชื่อทางการค้า สูตร เทคนิค ทักษะในการผลิตสินค้า กระบวนการ และกรรมวิธีการผลิตสินค้า
  • บุคลากรสำคัญของกิจการเดิม เช่น พนักงานที่มีความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ ในการดำเนินกิจการ ผู้จัดการที่มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการกิจการเป้าหมาย หรือ
  • สิทธิอื่นๆ ที่ผู้ซื้อกิจการต้องการนำมาใช้ในการประกอบกิจการของตนเองที่ตามกฎหมายสามารถโอนให้แก่กันได้ เช่น สิทธิการเช่าสถานประกอบกิจการเดิม สิทธิเรียกร้องต่างๆ

โดยหากผู้ซื้อกิจการต้องการจะได้มาซึ่งกิจการโดยการซื้อสินทรัพย์สำคัญในการดำเนินกิจการ ผู้ซื้อกิจการอาจใช้ สัญญาซื้อขายกิจการ ในการซื้อกิจการจากเจ้าของกิจการเดิม

การซื้อกิจการโดยการซื้อหุ้นของบริษัท

การซื้อกิจการโดยการซื้อหุ้นของบริษัท คือการที่ผู้ซื้อกิจการซื้อหุ้นของบริษัทที่ประกอบกิจการเป้าหมายจากเจ้าของเดิม (ผู้ถือหุ้น) ของบริษัท เพื่อเข้าเป็นผู้ถือหุ้นคนใหม่ของบริษัทนั้นๆ โดยผู้ซื้อกิจการจะต้องซื้อหุ้นให้ตนถือหุ้นรวมในสัดส่วนที่มากพอที่จะมีอำนาจควบคุมการบริหารจัดการบริษัทเพื่อที่จะมีอำนาจควบคุมและกำหนดการดำเนินการของกิจการเป้าหมายได้อย่างเด็ดขาด โดยที่ผู้ถือหุ้นของบริษัทย่อมได้มาซึ่งความเป็นเจ้าของบริษัท ซึ่งหมายความถึง สินทรัพย์ของบริษัททั้งหมด เช่น ทรัพย์สิน ทรัพย์สินทางปัญญา บุคลากร สิทธิอื่นๆ ที่เป็นของบริษัททั้งหมด รวมถึงความรับผิดที่เป็นของบริษัทด้วย เช่น หนี้สิน คดีความที่ถูกฟ้องร้องต่างๆ

โดยหากผู้ซื้อกิจการต้องการจะได้มาซึ่งกิจการโดยการซื้อหุ้นของบริษัท ผู้ซื้อกิจการอาจใช้ สัญญาโอนหุ้นบริษัท ในการซื้อกิจการจากผู้ถือหุ้น (เจ้าของ) ของบริษัทที่ประกอบกิจการเป้าหมาย

ผู้ซื้อกิจการควรถือหุ้นของบริษัทที่มีสิทธิอออกเสียงมากกว่าร้อยละ 75 ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดเพื่อสามารถลงมติพิเศษในที่ประชุมผู้ถือหุ้นในการตัดสินใจอนุมัติให้ดำเนินการสำคัญของบริษัท หรืออย่างน้อยมากกว่าร้อยละ 50 เพื่อสามารถลงมติเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นในการตัดสินใจ อนุมัติ หรือรับรองการดำเนินการทั่วไปของบริษัทได้

ข้อเปรียบเทียบการซื้อกิจการ

การซื้อกิจการโดยการซื้อสินทรัพย์สำคัญในการดำเนินกิจการและการซื้อกิจการโดยการซื้อหุ้นของบริษัท อาจมีข้อพิจารณาเปรียบเทียบโดยใช้ปัจจัยต่างๆ ได้ ดังต่อไปนี้

(1) การตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อกิจการ

การซื้อสินทรัพย์ของกิจการทำให้ผู้ซื้อกิจการมีโอกาสในการเลือกซื้อสินทรัพย์เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของกิจการเป้าหมายได้ตามความต้องการและความจำเป็นของผู้ซื้อกิจการ เช่น

  • ผู้ซื้อกิจการอาจเลือกซื้อเฉพาะเครื่องหมายการค้าของกิจการเป้าหมาย เนื่องจากต้องการความเชื่อถือและชื่อเสียงของเครื่องหมายการค้ายี่ห้อดังกล่าว โดยไม่ซื้อสินทรัพย์อย่างอื่น เช่น อาคาร โรงงาน เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือบุคคลากร เนื่องจากผู้ซื้อกิจการมีความพร้อมในด้านอื่นอยู่แล้ว หรือ
  • ผู้ซื้อกิจการอาจเลือกซื้อเฉพาะ เครื่องมือ อุปกรณ์ วัตถุดิบ และอาคารสถานที่ประกอบกิจการ โดยไม่ซื้อ เครื่องหมายการค้าของกิจการเป้าหมาย เนื่องจาก ผู้ซื้อกิจการมีเครื่องหมายการค้าและฐานลูกค้าที่มากพออยู่แล้ว โดยการซื้อกิจการนั้นเพื่อเพียงต้องการเพิ่มกำลังการผลิตสินค้า เท่านั้น

โดยที่ การซื้อหุ้นของบริษัท ผู้ซื้อกิจการจะได้มาทั้งสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัททั้งหมดโดยไม่สามารถเลือกซื้อเฉพาะสิ่งได้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ซื้อกิจการได้สิ่งที่ไม่ต้องการและ/หรือไม่จำเป็นมาด้วย เช่น

  • บริษัทดำเนินกิจการหลายกิจการ ทั้งร้านอาหาร สปา ธุรกิจนำเที่ยว และโรงแรม แต่ผู้ซื้อกิจการต้องการซื้อกิจการในส่วนของร้านอาหารเท่านั้น เนื่องจากเป็นกิจการเดียวที่มีผลประกอบการที่ดี
  • บริษัทดำเนินกิจการร้านกาแฟ แต่ผู้ซื้อกิจการต้องการซื้อเพียง อุปกรณ์และวัตถุดิบ และสูตรในการทำกาแฟเท่านั้น โดยที่ไม่ได้ต้องการอุปกรณ์ตกแต่ง ชุดโต๊ะและเก้าอี้ เนื่องจากต้องการจะตกแต่งร้านด้วยรูปแบบใหม่

(2) เงินทุนที่ใช้ในการได้มาซึ่งกิจการ

เงินทุนที่จะต้องใช้ในการซื้อกิจการสำหรับการซื้อสินทรัพย์จะจำกัดอยู่เพียงมูลค่าของสินทรัพย์ที่ผู้ซื้อกิจการต้องการจะซื้อเท่านั้น ในขณะที่เงินที่ใช้การซื้อหุ้นของบริษัท เพื่อให้มีอำนาจควบคุมเด็ดขาด ผู้ซื้อกิจการจะต้องซื้อหุ้นของบริษัทให้มีสิทธิออกเสียงสูงถึงร้อยละ 75 หรือร้อยละ 50 เป็นอย่างน้อยของสิทธิออกเสียงทั้งหมดซึ่งอาจเป็นการใช้เงินทุนที่มากเกินความจำเป็น

การซื้อหุ้นของบริษัท ผู้ซื้อกิจการอาจทยอยซื้อหุ้นตามความสามารถทางการเงินของผู้ซื้อกิจการได้ แม้จะไม่ได้มีอำนาจควบคุมกิจการอย่างเด็ดขาด ผู้ซื้อกิจการก็ยังถือว่าเป็นเจ้าของกิจการ (บางส่วน) ซึ่งมีสิทธิได้รับผลตอบแทนจากผลกำไรของกิจการและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่างๆ ของกิจการตามสัดส่วนหุ้นของที่ตนถือนั้นได้

(3) ระยะเวลาและกระบวนการในการได้มาซึ่งกิจการ

การซื้อหุ้นของบริษัท ผู้ซื้อกิจการย่อมได้มาซึ่งความเป็นเจ้าของกิจการเมื่อเข้าเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทโดยการทำ สัญญาโอนหุ้นบริษัท เพื่อซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท ในขณะที่การซื้อสินทรัพย์ หากเป็นสินทรัพย์ที่มีทะเบียน เช่น อสังหาริมทรัพย์ เครื่องหมายการค้าจดทะเบียน สิทธิบัตร ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องไปจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์หรือโอนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวกับนายทะเบียนตามหลักเกณฑ์ที่นายทำเบียนสินทรัพย์นั้นกำหนดด้วย

(4) รูปแบบองค์กรของกิจการเป้าหมาย

การซื้อสินทรัพย์ ผู้ซื้อกิจการสามารถซื้อกิจการที่เจ้าของกิจการดำเนินกิจการไม่ว่าในรูปแบบใด เช่น เจ้าของกิจการเป็น บุคคลธรรมดา ห้างหุ้น หรือบริษัท ในขณะที่การซื้อหุ้นของบริษัท ผู้ซื้อกิจการสามารถซื้อกิจการด้วยวิธีนี้ได้เมื่อกิจการเป้าหมายนั้นดำเนินการในรูปแบบบริษัทจำกัดเท่านั้น

(5) ความต่อเนื่องของกิจการ

เนื่องจากการซื้อหุ้นของบริษัท ผู้ที่เป็นผู้ดำเนินกิจการเป้าหมายก็คือบริษัทอยู่เช่นเดิมเพียงแต่เปลี่ยนผู้เป็นเจ้าของบริษัท (ผู้ถือหุ้น) ทำให้การซื้อกิจการโดยการซื้อหุ้นของบริษัทมีความต่อเนื่องของกิจการ กล่าวคือ การจดทะเบียนทางธุรกิจ การจดทะเบียนทางภาษี สิทธิในการประกอบธุรกิจบางประเภทที่ต้องที่ต้องได้รับอนุญาตจากราชการตามใบอนุญาตประกอบธุรกิจที่บริษัทครอบครองอยู่นั้นย่อมใช้ได้ต่อไปตามที่มีอยู่นั้น ในขณะที่การซื้อสินทรัพย์เป็นการเปลี่ยนแปลงผู้เป็นเจ้าของกิจการนั้นโดยตรงจึงทำให้ต้องมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้ประกอบการเป็นเจ้าของกิจการนั้นๆ ใหม่ ไม่ว่า การจดทะเบียนทางธุรกิจ การจดทะเบียนทางภาษี หรือใบอนุญาตประกอบธุรกิจ (ถ้ามี) ซึ่งต้องมีระยะเวลา กระบวนการ และค่าใช้จ่าย รวมถึงความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับอนุญาต (เช่น ผู้ขออนุญาตขาดคุณสมบัติ) และไม่สามารถประกอบกิจการที่ซื้อมานั้นต่อได้

(6) การตรวจสอบ

นอกจากการตรวจสอบสภาพ ปริมาณ คุณภาพของสินทรัพย์ของกิจการเป้าหมายแล้ว สำหรับการซื้อสินทรัพย์ การตรวจสอบย่อมจำกัดอยู่เพียงสินทรัพย์ของกิจการเฉพาะสิ่งที่ต้องการจะซื้อเท่านั้น เช่น

  • ตรวจสอบว่าผู้ขายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือเจ้าของสิทธิในสินทรัพย์นั้นหรือไม่ และ
  • ตรวจสอบว่าสินทรัพย์นั้นมีภาระผูกพันใดๆ อยู่หรือไม่ เช่น ถูกนำไปตราไว้เป็นหลักประกันหรือจำนอง

ในขณะที่การซื้อหุ้นของบริษัท ผู้ซื้อกิจการจะต้องตรวจสอบและประเมินสถานะของกิจการอย่างละเอียด (Due Diligence) กล่าวคือ ต้องตรวจสอบสินทรัพย์ หนี้สิน กระแสเงินสดต่างๆ รวมถึงการบันทึกทางบัญชีต่างๆ ของบริษัททั้งหมด จึงอาจมีกระบวนการและค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบที่มากกว่าการซื้อสินทรัพย์

(7) ค่าธรรมเนียมราชการและ/หรือภาษีอื่นๆ

การซื้อสินทรัพย์ ในกรณีที่สินทรัพย์ที่มีทะเบียน เช่น อสังหาริมทรัพย์ เครื่องหมายการค้าจดทะเบียน สิทธิบัตร จะมีค่าธรรมเนียมราชการในการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ในขณะที่การซื้อหุ้นของบริษัท การทำ สัญญาโอนหุ้นบริษัท จะต้องชำระอากรแสตมป์ตามรูปแบบ อัตรา และระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

คู่สัญญาอาจจัดทำ สัญญาเก็บรักษาความลับ เบื้องฉบับหนึ่งก่อนการจัดทำ สัญญาซื้อขายกิจการ หรือ สัญญาโอนหุ้นบริษัท ก็ได้ แล้วแต่กรณี ในระหว่างการเจรจาต่อรอง เปิดเผยข้อมูล ตรวจสอบกิจการ ประเมินมูลค่ากิจการเป้าหมาย ซึ่งคู่สัญญาในขณะนั้นอาจยังไม่มีความชัดเจนหรือยังไม่สามารถทราบได้ถึงเงื่อนไขรายละเอียดการเข้าซื้อกิจการ

สรุป

ในการพิจารณาว่าวิธีได้มาซึ่งกิจการวิธีการใดจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดนั้น อาจขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก เช่น ความต้องการของผู้ซื้อกิจการ ความสามารถทางการเงินของผู้ซื้อกิจการ รวมถึงปัจจัยรองต่างๆ โดยอาจสรุปได้ ดังต่อไป

ปัจจัยพิจารณา การซื้อสินทรัพย์สำคัญ การซื้อหุ้นของบริษัท
การตอบสนองความต้องการ
เงินทุนที่ใช้
ระยะเวลาและกระบวนการ
รูปแบบองค์กรกิจการเป้าหมาย
ความต่อเนื่อง
กระบวนการตรวจสอบ

แบบฟอร์มและตัวอย่างต่าง ๆ ที่สามารถดาวน์โหลดได้ในรูปแบบ Word และ PDF

ให้คะแนนคู่มือฉบับนี้