การลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม (e-Voting) ทำอย่างไร

ปรับปรุงล่าสุด ปรับปรุงล่าสุด24 สิงหาคม 2021
คะแนน คะแนน 5 - 3 คะแนนโหวต

e-Voting คืออะไร

การลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม (e-Voting) คือ การลงคะแนนเสียง หรือการนับคะแนนเสียงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในการประชุมต่างๆ ซึ่งอาจเป็นวิธีการลงคะแนนเสียงแบบเปิดเผย หรือการลงคะแนนลับ ก็ได้

โดยที่ วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การลงคะแนนเสียง หรือการนับคะแนนเสียงผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ผ่านอุปกรณ์/เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบการลงคะแนนเสียงต่างๆ

ทั้งนี้ การลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม (e-Voting) อาจเป็นการลงคะแนนเสียง หรือการนับคะแนนเสียงในการประชุมที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้ ก็ได้

  • การประชุมแบบปกติ (Conventional Meeting) ที่ผู้เข้าร่วมประชุมมาร่วมประชุมอยู่ในสถานที่เดียวกัน หรือ
  • การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) ที่ผู้เข้าร่วมประชุมมาร่วมประชุมโดยไม่ได้อยู่ในสถานที่เดียวกัน

การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) คือ การประชุมที่ดำเนินการประชุม ปรึกษาหารือ แสดงความคิดเห็น หรือตัดสินใจลงมติในประเด็นวาระต่างๆ ผ่านสื่อและ/หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ร่วมประชุมไม่ได้อยู่ในสถานที่เดียวกัน แต่ก็สามารถประชุมปรึกษาหารือ แสดงความคิดเห็นระหว่างกันได้ รวมถึงสามารถลงมติในวาระต่างๆ ได้ ผู้ใช้งานอาจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) ได้ที่ คู่มือทางกฎหมาย: การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) ทำได้ หรือไม่ อย่างไร

โดย การลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม (e-Voting) อาจนำไปใช้ในการประชุมต่างๆ ที่จำเป็นต้องมีการลงคะแนนเสียง การนับคะแนนเสียง หรือลงมติต่างๆ เช่น

หลักการ e-Voting

ตามข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ว่าด้วยการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม เลขที่ ขมธอ. 26-2564 ได้กำหนดหลักการสำคัญในการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม (e-Voting) ไว้ 4 ประการ ที่ผู้จัดการประชุมควรคำนึง ให้ความสำคัญ และนำไปประยุกต์ใช้ในการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม (e-Voting) ดังต่อไปนี้

(1) การลงคะแนนอย่างเท่าเทียม (Universal and Equal Suffrage) เช่น

  • ผู้ลงคะแนนทุกคนสามารถใช้งานระบบการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างง่าย และทั่วถึง โดยไม่ได้จำกัดให้ผู้ลงคะแนนสามารถใช้ได้เพียงกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง
  • ในกรณีที่มีการลงคะแนนหลายช่องทางในการลงคะแนนนั้น (เช่น การลงคะแนนโดยการชูมือ บัตรลงคะแนน และการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกัน) คะแนนเสียงจากการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์จะต้องถูกนำไปนับคะแนนอย่างเท่าเทียม และถูกต้อง

(2) การลงคะแนนอย่างอิสระ (Free Suffrage) เช่น

  • ผู้ลงคะแนนได้รับทราบข้อมูลที่จำเป็นในการประกอบการตัดสินใจที่เพียงพอและถูกต้อง เช่น เงื่อนไข วิธีการลงคะแนน ผลของการลงคะแนนในกรณีต่างๆ
  • ผู้ลงคะแนนสามารถแสดงเจตนาลงคะแนนเสียงได้อย่างอิสระ โดยปราศจากปัจจัยภายนอก หรือความกดดันต่างๆ
  • ผู้ลงคะแนนมีเวลาที่เพียงพอและเหมาะสมกับข้อมูลและความสำคัญของมติที่ต้องลงคะแนนเสียงนั้น

(3) ความเป็นส่วนตัวของการลงคะแนน (Privacy) เช่น

  • ผู้ลงคะแนนจะต้องได้รับการคุ้มครองและรักษาความลับของคะแนนเสียง และข้อมูลของผู้ลงคะแนนก่อนที่จะยืนยันการลงคะแนน
  • ในกรณีการลงคะแนนลับ ผู้ลงคะแนนจะต้องได้รับการคุ้มครองและรักษาความลับของข้อมูลของผู้ลงคะแนน (เช่น ไม่สามารถระบุตัวผู้ลงคะแนนได้) โดยจะทราบเพียงจำนวนผู้ลงคะแนนและผลรวมของการลงคะแนน

(4) ความมั่นคงปลอดภัยของระบบการลงคะแนน (Security) เช่น

  • จัดให้มีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ (Information Technology Security) ที่ออกแบบบนพื้นฐานของการรักษาความลับ การรักษาความครบถ้วน และการรักษาสภาพพร้อมใช้งาน

e-Voting ควรดำเนินการอย่างไร

ตามข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ว่าด้วยการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม เลขที่ ขมธอ. 26-2564 ได้กำหนดแนวปฏิบัติการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม (e-Voting) ไว้ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของหลักการสำคัญในการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม (e-Voting) 4 ประการตามที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยอาจแบ่งพิจารณาได้ ดังต่อไปนี้

ก่อนการลงคะแนน

(1) การออกแบบระบบการลงคะแนน

ผู้จัดการประชุมควรออกแบบระบบที่ใช้ในการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม (e-Voting) ให้มีลักษณะ ดังต่อไปนี้

  • สามารถเข้าใจและสามารถใช้งานระบบการลงคะแนนได้ง่ายโดยผู้ลงคะแนน เช่น รูปแบบ การจัดวาง การใช้ภาษาและคำที่เข้าใจได้ง่าย ชัดเจน และถูกต้อง
  • เก็บรวบรวมและประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ลงคะแนนเท่าที่จำเป็นในการลงคะแนน เท่านั้น เช่น ข้อมูลการยืนยันตัวตน การลงคะแนนเสียง และความเห็น (ถ้ามี) เท่านั้น
  • สามารถตรวจสอบได้ เช่น มีระบบตรวจสอบที่เปิดกว้างและครอบคลุม รวมถึงระบบการรายงานปัญหา
  • สามารถระบุปัญหาการลงคะแนนของผู้ลงคะแนนได้ และสามารถรับแจ้งปัญหาหรือเหตุขัดข้องจากผู้ลงคะแนน เช่น ระบบแจ้งปัญหาการใช้งาน/การลงคะแนน
  • สามารถร่วมทำงานกับระบบอื่น หรือเชื่อมโยงข้อมูลกับระบบอื่นได้ เช่น การใช้มาตรฐานเปิด
  • สามารถรองรับการใช้งานได้โดยผู้ลงคะแนนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย เช่น การปรับขนาดตัวอักษร การอ่านออกเสียงสำหรับผู้มีปัญหาด้านสายตา

(2) การบริหารจัดการระบบการลงคะแนน

ผู้จัดการประชุมควรบริหารจัดการระบบที่ใช้ในการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม (e-Voting) ให้มีลักษณะ ดังต่อไปนี้

  • มีการกำหนดสิทธิการใช้ และการเข้าถึงข้อมูลการยืนยันตัวตนของผู้ลงคะแนนที่เหมาะสม เช่น อนุญาตให้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประมวลผลคะแนน เท่านั้น
  • มีการกำหนดสิทธิการใช้ และการเข้าถึงระบบข้อมูล เครื่องมือ และอุปกรณ์ส่วนกลางที่เหมาะสม เช่น อนุญาตให้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประมวลผลคะแนน เท่านั้น
  • มีการปรับปรุงระบบ (Update) เป็นประจำและล่าสุด
  • มีมาตรการดูแลและป้องกันการนำข้อมูลไปใช้โดยมิชอบ เช่น การเข้ารหัสลับของข้อมูล (Encryption) ในการจัดเก็บข้อมูล หรือการเข้ารหัสลับของข้อมูล (Encryption) ในการส่งข้อมูลการลงคะแนนผ่านบุคคลภายนอก หรือไปยังบุคคลภายนอก
  • มาตรการและระบบการแจ้งเตือนภัยคุกคามที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายต่อการลงคะแนน เช่น กระบวนการ ขั้นตอน และวิธีการแจ้งผู้จัดการประชุมให้ทราบโดยเร็วถึงภัยคุกคามดังกล่าว
  • มีการบริหารจัดการตามหลักการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ (Information Technology Security) บนพื้นฐานของการรักษาความลับ การรักษาความครบถ้วน และการรักษาสภาพพร้อมใช้งาน

(3) การเตรียมการก่อนการลงคะแนน

ผู้จัดการประชุมควรเตรียมการก่อนการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม (e-Voting) ดังต่อไปนี้

  • แจ้งให้ผู้ลงคะแนนทราบล่วงหน้าก่อนการลงคะแนนโดยความชัดเจน และถูกต้องเกี่ยวกับ หลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และเงื่อนไขในการใช้งานระบบการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม (e-Voting)
  • แจ้งให้ผู้ลงคะแนนทราบล่วงหน้าก่อนการลงคะแนนโดยความชัดเจน และถูกต้องถึงผลจากการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม (e-Voting) เช่น มีความเท่าเทียม และผลผูกพันเช่นเดียวกับการลงคะแนนในรูปแบบปกติ
  • มีการระบุตัวบุคคลอย่างเหมาะสมก่อนการลงคะแนน เช่น ใช้ระดับความน่าเชื่อถือตามข้อกำหนดการพิสูจน์ตัวตน IAL (Identity Assurance Level: IAL)
  • มีการยืนยันตัวตนที่เหมาะสมก่อนการลงคะแนน เช่น ใช้ระดับความน่าเชื่อถือตามข้อกำหนดการยืนยันตัวตน AAL (Authentication Assurance Level: AAL)

ในกรณีที่มีการใช้ระบบควบคุมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) ที่มีการระบุตัวบุคคล และการยืนยันตัวตนแล้ว ซึ่งเป็นระบบเดียวกันกับระบบการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voting) อาจไม่จำเป็นต้องดำเนินการระบุตัวบุคคล และการยืนยันตัวตนซ้ำก็ได้

ระหว่างการลงคะแนน

(4) การลงคะแนน

ผู้จัดการประชุมควรจัดให้มีการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม (e-Voting) ให้มีลักษณะในขณะการลงคะแนน ดังต่อไปนี้

  • แสดงผลข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ผู้ลงคะแนนทราบอย่างถูกต้องและครบถ้วน
  • จัดให้มีระยะเวลาที่เพียงพอต่อการตัดสินใจตามความสำคัญและข้อมูลที่ต้องพิจารณาในวาระ/มตินั้นๆ
  • จัดให้มีระบบป้องกันการลงคะแนนผิดพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น ข้อความแจ้ง และการยืนยันการลงคะแนน การแก้ไขการลงคะแนนก่อนการยืนยันการลงคะแนน ข้อความแนะนำ หรือเตือน กรณีลงคะแนนไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข
  • ไม่เปิดเผยจำนวนคะแนนเสียงก่อนการสิ้นสุดการลงคะแนนเสียงในแต่ละวาระ/มตินั้นๆ
  • จัดให้มีระบบแจ้งผลการลงคะแนน เช่น ข้อความแจ้งการลงคะแนนสำเร็จ และสิ้นสุดขั้นตอนการลงคะแนน

หลังการลงคะแนน

(5) การจัดการคะแนนเสียงและการนับคะแนน

ผู้จัดการประชุมควรจัดให้มีการจัดการคะแนนเสียงและการนับคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม (e-Voting) ภายหลังจากที่มีการลงคะแนนเสียงแล้ว ดังต่อไปนี้

  • ในกรณีที่มีการลงคะแนนหลายช่องทางในการลงคะแนน (เช่น การลงคะแนนโดยการชูมือ บัตรลงคะแนน และการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกัน) คะแนนเสียงจากการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์จะต้องถูกนำไปนับคะแนนอย่างเท่าเทียม และถูกต้อง เช่น ไม่มีการลงคะแนนซ้ำซ้อน หรือการปฏิเสธการนับคะแนนเสียงเพียงเพราะว่าคะแนนเสียงนั้นลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์
  • จัดให้ผู้ลงคะแนนสามารถตรวจสอบได้ว่าคะแนนเสียงของตนถูกนำไปนับและประมวลผลถูกต้องตรงตามเจตนาที่ได้ลงคะแนนเสียงไว้หรือไม่
  • สามารถแสดงหลักฐานที่ชัดเจนว่าผลการลงคะแนนถูกนำไปคำนวณอย่างถูกต้อง เช่น บันทึกเหตุการณ์การลงคะแนนเสียงและการคำนวณคะแนนเสียง (Log Report)
  • ในกรณีที่มีการลงคะแนนลับการนับและประมวลผลข้อมูลจะต้องดำเนินการโดยวิธีที่ไม่สามารถระบุตัวของผู้ลงคะแนนได้

สรุป

การลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม (e-Voting) นั้นมีประโยชน์อย่างมากในการประชุม ไม่ว่าการประชุมนั้นจะเป็นการประชุมแบบปกติ (Conventional Meeting) หรือการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Meeting) ก็ตาม โดยเฉพาะการประชุมที่มีผู้ลงคะแนนจำนวนมาก ซึ่งอาจเกิดข้อผิดพลาดหรือความล่าช้าในการนับคะแนนด้วยบุคคล หรือการประชุมที่ผู้ลงคะแนนไม่ได้อยู่ในสถานที่เดียวกัน ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วให้แก่ผู้ลงคะแนน อย่างไรก็ดี ระบบที่ใช้ในการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม (e-Voting) ก็ควรมีมาตรฐานและลักษณะไม่ต่ำไปกว่าข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ว่าด้วยการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ลงคะแนนสามารถมั่นใจได้ว่าการลงคะแนนเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ของตนจะสะดวก ถูกต้องตรงตามเจตนาของตนทุกประการ รวมถึงมีความมั่นคงปลอดภายในการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของตน และสามารถบังคับใช้ได้หรือมีผลผูกพันตามกฎหมาย

แบบฟอร์มและตัวอย่างต่าง ๆ ที่สามารถดาวน์โหลดได้ในรูปแบบ Word และ PDF

ให้คะแนนคู่มือฉบับนี้