การโอนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาต้องทำอย่างไร?

ปรับปรุงล่าสุด ปรับปรุงล่าสุด17 พฤศจิกายน 2021
คะแนน คะแนน 5 - 1 คะแนนโหวต

ปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการติดต่อสื่อสารพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทรัพย์สินทางปัญญา (เช่น ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร หรือทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ) จึงมีบทบาทสำคัญและถูกใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น หรือแม้กระทั่งในการดำเนินชีวิตประจำวันด้วยก็ตาม

การโอนทรัพย์สินทางปัญญา คืออะไร?

โดยที่ การโอนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา คือการที่ ผู้โอน (เช่น เจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา หรือผู้ทรงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา) โอนสิทธิความเป็นเจ้าของอย่างเด็ดขาดในทรัพย์สินทางปัญญาที่ตนเป็นเจ้าของอยู่นั้นให้แก่บุคคลอื่น อันได้แก่ ผู้รับโอน (เช่น ผู้ที่จะเป็นเจ้าของ หรือผู้ทรงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญารายใหม่) ซึ่งการโอนสิทธิอย่างเด็ดขาดในความเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาจากผู้โอนให้แก่ผู้รับโอนนั้นอาจนำมาใช้ในกรณีใดกรณีหนึ่งได้ ดังต่อไปนี้

(ก) การโอนทรัพย์สินทางปัญญาโดยมีค่าตอบแทน เช่น การซื้อขายสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา
(ข) การโอนทรัพย์สินทางปัญญาโดยไม่มีค่าตอบแทน เช่น การยกให้ หรือให้เปล่าซึ่งสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา

ในคู่มือทางกฎหมายฉบับนี้ จะกล่าวถึงการโอนสิทธิความเป็นเจ้าของอย่างเด็ดขาดในทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่างๆ ให้กับบุคคลอื่น เท่านั้น โดยไม่ได้กล่าวถึงการอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ

ทรัพย์สินทางปัญญา คืออะไร?

ทรัพย์สินทางปัญญา คือ ทรัพย์สินหรือผลงานที่มนุษย์ประดิษฐ์ คิดค้น สร้างสรรค์ขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของทรัพย์สินหรือผลงานที่จับต้องได้ เช่น งานศิลปะ รูปแบบสินค้าและผลิตภัณฑ์ หรือทรัพย์สินหรือผลงานที่จับต้องไม่ได้ เช่น ความคิดเห็น บทความ องค์ความรู้ รูปแบบและกรรมวิธีการผลิต ชื่อเสียงความนิยมของเครื่องหมายการค้า/ชื่อทางการค้า โดยทรัพย์สินทางปัญญายังสามารถแบ่งออกได้หลายประเภท ซึ่งประเภททรัพย์สินทางปัญญาที่จะยกมากล่าวถึง เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทที่มีบทบาทและถูกนิยมนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันมากที่สุด ดังต่อไปนี้

(ก) ลิขสิทธิ์

ทรัพย์สินทางปัญญา ประเภทแรกที่จะกล่าวถึงซึ่งมีความใกล้ชิดและเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวันของคนทั่วไปมากที่สุด ได้แก่ ลิขสิทธิ์ โดยที่ ลิขสิทธิ์ คือสิทธิในความเป็นเจ้าของในผลงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นและได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ โดยอาจเป็นผลงานประเภทต่างๆ ดังต่อไปนี้

    • วรรณกรรมทางภาษา เช่น หนังสือ บทความ บทประพันธ์ คำร้อง สิ่งพิมพ์ ความคิดเห็น บทวิเคราะห์
    • วรรณกรรมทางคอมพิวเตอร์ เช่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ แอปพลิเคชัน รูปแบบการเขียนและการเข้ารหัสโปรแกรมและ/หรือแอปพลิเคชัน
    • ดนตรีกรรม เช่น เพลง ทำนอง โน้ตเพลง หรือแผนภูมิเพลง
    • ภาพยนตร์ เช่น ภาพยนตร์ เสียงประกอบภาพยนตร์ และเสียงพากย์
    • โสตทัศนวัสดุและสิ่งบันทึกเสียง เช่น แผ่น DVD แผ่น Blu Ray แผ่นเพลง แผ่น CD
    • งานแพร่เสียงแพร่ภาพ เช่น รายการวิทยุ รายการโทรทัศน์
    • นาฏกรรม เช่น ท่ารำ ท่าเต้น การทำท่า หรือการแสดง
    • ศิลปกรรม เช่น งานจิตรกรรม งานประติมากรรม งานภาพพิมพ์ งานภาพถ่าย ภาพประดิษฐ์
    • สถาปัตยกรรม เช่น การออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง งานออกแบบตกแต่งภายในหรือภายนอก
    • งานภาพประกอบ เช่น แผนที่ โครงสร้าง ภาพร่าง หรืองานสร้างสรรค์รูปทรงสามมิติเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ หรือวิทยาศาสตร์
    • งานอื่นๆ ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์

(ข) เครื่องหมายการค้า

เครื่องหมายการค้า เป็นอีกหนึ่งประเภททรัพย์สินทางปัญญาที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจโดยตรง โดยที่ในการดำเนินธุรกิจหรือประกอบกิจการใดๆ ไม่ว่าการค้าขายสินค้า การให้บริการ หรือรับจ้างต่างๆ ล้วนจำเป็นต้องมี เครื่องหมายการค้าของกิจการ/ธุรกิจนั้นๆ ทั้งสิ้น เพื่อแสดงถึงและใช้ในการระบุตัวตนของธุรกิจหรือกิจการนั้นๆ จากธุรกิจหรือกิจการอื่นๆ ไม่ว่าเครื่องหมายการค้าจะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าไว้แล้ว หรือไม่ ก็ตาม เช่น

    • เครื่องหมายการค้า เช่น ตรา สัญลักษณ์ โลโก ยี่ห้อ ชื่อสินค้า/ผลิตภัณฑ์
    • เครื่องหมายบริการ เช่น ตรา สัญลักษณ์ โลโก ชื่อบริการ ชื่อร้าน ชื่อกิจการที่ให้บริการ
    • เครื่องหมายรับรอง เช่น ตรา/เครื่องหมายรับรองคุณภาพ มาตรฐาน หรือคุณลักษณะของสินค้าหรือบริการ
    • เครื่องหมายร่วม เช่น เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ใช้ร่วมกันโดยกลุ่มกิจการ/องค์กร

(ค) สิทธิบัตร

ทรัพย์สินทางปัญญา ประเภทสุดท้ายที่จะกล่าวถึง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจปัจจุบัน โดยเฉพาะในการดำเนินธุรกิจหรือประกอบกิจการที่เกี่ยวกับการออกแบบสินค้า/ผลิตภัณฑ์ ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์ กรรมวิธีการผลิตต่างๆ ได้แก่ สิทธิบัตร โดยสิทธิบัตรที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตรอาจเป็นสิทธิบัตรต่างๆ ดังต่อไปนี้

    • สิทธิบัตรการประดิษฐ์ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีขึ้นใหม่ โดยใช้วิธีการประดิษฐ์ขั้นที่สูงขึ้น การผลิตและคิดค้นเทคโนโลยีรูปแบบใหม่
    • สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ เช่น การออกแบบรูปร่าง ลวดลาย สี หรือองค์ประกอบภายนอกของสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ขึ้นใหม่
    • อนุสิทธิบัตร เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีขึ้นใหม่

(ง) ทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ

นอกจากทรัพย์สินทางปัญญา 3 ประเภทดังกล่าวข้างต้นที่มักมีการโอนให้แก่กันแล้ว ยังมีทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่นๆ อีกที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย เช่น

(1) ความลับทางการค้า

โดยที่ ความลับทางการค้าตามพระราชบัญญัติความลับทางการค้า หมายถึง ข้อมูลที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่ยังไม่รู้จักกันโดยทั่วไป หรือยังเข้าถึงไม่ได้โดยทั่วไปซึ่งถูกค้นพบ คิดค้น รวบรวม หรือสร้างสรรค์ รวมถึงถูกเก็บรักษาไว้เป็นความลับ เช่น สูตรอาหาร เครื่องดื่ม ระบบ กรรมวิธี เทคนิค และองค์ความรู้ต่างๆ ในการผลิต ดำเนินธุรกิจ หรือประกอบกิจการ

(2) สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

โดยที่ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หมายถึง ชื่อ หรือสัญลักษณ์ที่แสดงถึงแหล่งภูมิศาสตร์ (เช่น ประเทศ เขต ภูมิภาค พื้นที่ และท้องถิ่น) ที่สามารถบ่งบอกว่าสินค้าที่เกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ ชื่อเสียง หรือคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว เช่น ข้าวหลามหนองมน ปลาสลิดบางบ่อ ไข่เค็มไชยา ปลาทูแม่กลอง ครกอ่างศิลา

(3) แบบผังภูมิของวงจรรวม

โดยที่ แบบผังภูมิของวงจรรวมตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแบบผังภูมิของวงจรรวม หมายถึง การคุ้มครองการออกแบบแบบผังภูมิวงจรรวม การจัดวางและการเชื่อมต่อวงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์ (Integrated Circuit: IC) เช่น หน่วยประมวลผล (Microprocessor) หน่วยความจำ (Memory) ชุดแผงวงจรหลัก (Mainboard)

ขั้นตอนการโอนทรัพย์สินทางปัญญา

ในการโอนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เนื่องจากทรัพย์สินทางปัญญาแต่ละประเภทต่างมีลักษณะ กฎหมายให้การรับรอง และให้ความคุ้มครองที่แตกต่างกันไปโดยเฉพาะ ดังนั้น ขั้นตอนการโอนทรัพย์สินทางปัญญาแต่ละประเภทจึงมีหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และข้อจำกัดแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี โดยอาจแบ่งพิจารณาได้ ดังต่อไปนี้

(ก) ลิขสิทธิ์

ในการโอนลิขสิทธิ์ให้แก่กันนั้น ตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ (เช่น พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์) กำหนดให้การโอนลิขสิทธิ์ต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน ดังนั้น ในกรณีที่เจ้าของผลงานอันมีลิขสิทธิ์ต้องการจะโอนสิทธิความเป็นเจ้าของให้บุคคลอื่น (เช่น ขายลิขสิทธิ์ หรือยกให้ซึ่งลิขสิทธิ์) ผู้โอนและผู้รับโอนจึงควรจัดทำสัญญาโอนลิขสิทธิ์เป็นลายลักษณ์อักษรและลงลายมือชื่อให้ครบถ้วน

เนื่องจากลิขสิทธิ์ย่อมได้มา และได้รับความคุ้มครองเมื่อมีการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีการจดทะเบียนใดๆ

อย่างไรก็ดี กฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ก็ยังได้กำหนดให้เจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์นั้นอาจสามารถนำงานอันมีลิขสิทธิ์ไปจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเป็นฐานข้อมูลอ้างอิงลิขสิทธิ์ได้อีกด้วย ดังนั้น ในกรณีที่งานอันมีลิขสิทธิ์ได้ถูกนำไปจดแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา คู่สัญญาก็ควรจะดำเนินการจดแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูลเจ้าของลิขสิทธิ์เพื่อให้ข้อมูลในทะเบียนข้อมูลลิขสิทธิ์มีความถูกต้อง สอดคล้อง และตรงกันกับการโอนลิขสิทธิ์ตามสัญญาโอนลิขสิทธิ์ด้วย

(ข) เครื่องหมายการค้า

ในการโอนเครื่องหมายการค้าให้แก่กันนั้นตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า (เช่น พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า) อาจแบ่งพิจารณาได้ 3 กรณี ดังต่อไปนี้

(1) เครื่องหมายการค้าจดทะเบียน

ในกรณีการโอนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียน (เช่น จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากับกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว) คู่สัญญาจะต้องจัดทำสัญญาโอนเครื่องหมายการค้าเป็นลายลักษณ์อักษรและลงลายมือชื่อให้ครบถ้วน รวมถึงจะต้องไปดำเนินการจดทะเบียนโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้ากับนายทะเบียน สำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญาตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ผู้รับโอนมีสิทธิความเป็นเจ้าของในเครื่องหมายการค้านั้นอย่างสมบูรณ์

(2) สิทธิในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า

ในกรณีการโอนสิทธิในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า (เช่น เครื่องหมายการค้าอยู่ในระหว่างการพิจารณาของกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้จดทะเบียน) คู่สัญญาจะต้องจัดทำสัญญาโอนเครื่องหมายการค้าเป็นลายลักษณ์อักษรและลงลายมือชื่อให้ครบถ้วน รวมถึงจะต้องไปดำเนินการจดแจ้งการโอนสิทธิในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า กับนายทะเบียน สำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ผู้รับโอนมีสิทธิความเป็นเจ้าของในเครื่องหมายการค้านั้นอย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ ก่อนที่นายทะเบียนจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่โอนดังกล่าวนั้น

(3) เครื่องหมายการค้าอื่น

ในกรณีการโอนเครื่องหมายการค้าอื่นนอกเหนือจากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น (เช่น เครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนหรือไม่ได้อยู่ในระหว่างขอจดทะเบียน) กฎหมายไม่ได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการในการโอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ อย่างไรก็ดี คู่สัญญาควรจะจัดทำสัญญาโอนเครื่องหมายการค้าเป็นลายลักษณ์อักษรและลงลายมือชื่อให้ครบถ้วน เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันของคู่สัญญา รวมถึงเพื่อเก็บไว้ใช้อ้างอิงเป็นหลักฐานได้ในกรณีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าในภายหลัง

ในการจดทะเบียนโอนเครื่องหมายการค้า หรือจดแจ้งการโอนสิทธิในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า กับนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า คู่สัญญาอาจมีเอกสารและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่ต้องพิจารณาและจัดเตรียม เช่น สัญญาโอนเครื่องหมายการค้า ค่าธรรมเนียมคำขอจดทะเบียน โดยผู้ใช้งานอาจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียน หรือสิทธิในคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ได้ที่ คู่มือทางกฎหมาย: จดทะเบียนโอนสิทธิในเครื่องหมายการค้า ต้องทำอย่างไร? และบริการข้อมูลเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง การโอนหรือรับมรดกสิทธิในเครื่องหมายการค้า

(ค) สิทธิบัตร

ในการโอนสิทธิบัตรให้แก่กันนั้น ตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร (เช่น พระราชบัญญัติสิทธิบัตร) อาจแบ่งพิจารณาได้ 2 กรณี ดังต่อไปนี้

(1) สิทธิบัตร หรืออนุสิทธิบัตร

ในกรณีการโอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ หรืออนุสิทธิบัตร (เช่น สิ่งประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ หรือการออกแบบที่ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรแล้ว) กฎหมายกำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอนและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น ในกรณีที่ผู้ทรงสิทธิบัตรต้องการจะโอนสิทธิความเป็นเจ้าของในสิทธิบัตรให้บุคคลอื่น (เช่น ขายสิทธิบัตร หรือยกให้ซึ่งสิทธิบัตร) ผู้โอนและผู้รับโอนจึงควรจัดทำ สัญญาโอนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรเป็นลายลักษณ์อักษรและลงลายมือชื่อให้ครบถ้วน รวมถึงจะต้องไปดำเนินการจดทะเบียนโอนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรกับนายทะเบียน กรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้ผู้รับโอนมีสิทธิความเป็นเจ้าของในสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรนั้นอย่างสมบูรณ์

ในการจดทะเบียนโอนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร คู่สัญญาอาจมีเอกสารและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่ต้องพิจารณาและจัดเตรียม (เช่น สัญญาโอนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนรับโอนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร) โดยผู้ใช้งานอาจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจดทะเบียนโอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ และอนุสิทธิบัตร ได้ที่ บริการข้อมูลสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง การจดทะเบียนโอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ และอนุสิทธิบัตร

(2) สิทธิขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร

ในกรณีการโอนสิทธิขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร (เช่น สิ่งประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์ หรือการออกแบบที่ยังไม่ได้ขอรับสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร) กฎหมายกำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน ดังนั้น ในกรณีที่ผู้เป็นเจ้าของสิ่งประดิษฐ์ หรือเจ้าของการออกแบบ ต้องการจะโอนสิทธิขอรับสิทธิบัตรของตนให้บุคคลอื่น ผู้โอนและผู้รับโอนจึงควรจัดทำ สัญญาโอนสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตรเป็นลายลักษณ์อักษรและลงลายมือชื่อให้ครบถ้วน

(ง) ทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ

ในการโอนสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ ผู้ใช้งานอาจมีข้อพิจารณา ดังต่อไปนี้

(1) ความลับทางการค้า

ในการโอนความลับทางการค้าให้แก่กันนั้น ตามกฎหมายว่าด้วยความลับทางการค้า (เช่น พระราชบัญญัติความลับทางการค้า) กำหนดให้การโอนความลับทางการค้าต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน

ดังนั้น ในกรณีที่เจ้าของความลับทางการค้าต้องการจะโอนสิทธิความเป็นเจ้าของความลับทางการค้าให้บุคคลอื่น (เช่น ขายสูตรลับ หรือยกให้ซึ่งสูตรลับ) ผู้โอนและผู้รับโอนจึงควรจัดทำ สัญญาโอนความลับทางการค้าเป็นลายลักษณ์อักษรและลงลายมือชื่อให้ครบถ้วน

(2) สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

ในการโอนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้แก่กันนั้น ตามกฎหมายว่าด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) ไม่ได้กำหนดให้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สามารถโอนให้แก่กันได้

ทั้งนี้ ด้วยลักษณะของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกันของบุคคลในแหล่งภูมิศาสตร์ที่ขึ้นทะเบียนนั้น (เช่น ประเทศ เขต ภูมิภาค พื้นที่ และท้องถิ่น) ซึ่งไม่ใช่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งจึงไม่สามารถโอนให้แก่กันได้ โดยผู้มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จำกัดเฉพาะกลุ่มบุคคลที่มีส่วนได้เสียโดยตรงกับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้นๆ เช่น หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคลธรรมดา กลุ่มบุคคล หรือนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการค้าเกี่ยวข้องกับสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และมีถิ่นที่อยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้า กลุ่มผู้บริโภคหรือองค์กรผู้บริโภคสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

(3) แบบผังภูมิของวงจรรวม

ในการโอนสิทธิในแบบผังภูมิของวงจรรวมให้แก่กันนั้น ตามกฎหมายว่าด้วยแบบผังภูมิของวงจรรวม (เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองแบบผังภูมิของวงจรรวม) จะมีลักษณะและความคล้ายคลึงกับการโอนสิทธิบัตร โดย อาจแบ่งพิจารณาได้ 2 กรณี ดังต่อไปนี้

(3.1) แบบผังภูมิของวงจรรวมที่จดทะเบียนแล้ว

ในกรณีการโอนแบบผังภูมิของวงจรรวมที่จดทะเบียนแล้ว (เช่น แบบผังภูมิของวงจรรวมที่จดทะเบียนกับนายทะเบียน กรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว) กฎหมายกำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอนและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น ในกรณีที่ผู้ทรงสิทธิในแบบผังภูมิของวงจรรวมต้องการจะโอนสิทธิความเป็นเจ้าของในแบบผังภูมิของวงจรรวมให้บุคคลอื่น (เช่น ขายแบบผังภูมิของวงจรรวม หรือยกให้ซึ่งแบบผังภูมิของวงจรรวม) ผู้โอนและผู้รับโอนจึงควรจัดทำ สัญญาโอนแบบผังภูมิของวงจรรวมเป็นลายลักษณ์อักษรและลงลายมือชื่อให้ครบถ้วน รวมถึงจะต้องไปดำเนินการจดทะเบียนโอนแบบผังภูมิของวงจรรวมกับนายทะเบียน กรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้ผู้รับโอนมีสิทธิในแบบผังภูมิของวงจรรวมนั้นอย่างสมบูรณ์

ในการจดทะเบียนโอนแบบผังภูมิของวงจรรวม คู่สัญญาอาจมีเอกสารและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่ต้องพิจารณาและจัดเตรียม (เช่น สัญญาโอนแบบผังภูมิของวงจรรวม ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนรับโอนแบบผังภูมิของวงจรรวม) โดยผู้ใช้งานอาจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจดทะเบียนโอนแบบผังภูมิของวงจรรวม ได้ที่ บริการข้อมูลแบบแผนผังวงจรรวม กรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง การจดทะเบียนขอรับความคุ้มครองแบบผังภูมิของวงจรรวม

(3.2) สิทธิขอรับความคุ้มครองแบบผังภูมิของวงจรรวม

ในกรณีการโอนสิทธิขอรับความคุ้มครองแบบผังภูมิของวงจรรวม (เช่น แบบผังภูมิของวงจรรวมที่ยังไม่ได้ขอรับความคุ้มครองกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา) กฎหมายกำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน ดังนั้น ในกรณีที่ผู้เป็นเจ้าของแบบผังภูมิของวงจรรวมต้องการจะโอนสิทธิขอรับความคุ้มครองแบบผังภูมิของวงจรรวมของตนให้บุคคลอื่น ผู้โอนและผู้รับโอนจึงควรจัดทำ สัญญาโอนสิทธิในแบบผังภูมิของวงจรรวมเป็นลายลักษณ์อักษรและลงลายมือชื่อให้ครบถ้วน

สรุป

เนื่องจาก ทรัพย์สินทางปัญญาแต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็น ลิขสิทธิ์ เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร หรือความลับทางการค้าต่างมีกฎหมายรับรองและให้ความคุ้มครองที่แตกต่างกันไปโดยเฉพาะแต่ละประเภทของทรัพย์สินทางปัญญา ดังนั้น ขั้นตอน หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และข้อจำกัดในการโอนทรัพย์สินทางปัญญาแต่ละประเภทจึงแตกต่างกันไป ซึ่งทรัพย์สินทางปัญญาแต่ละประเภทก็แยกย่อยได้อีกหลายกรณี ดังนั้น ก่อนการดำเนินการจัดทำสัญญาโอนทรัพย์สินทางปัญญาไม่ว่าประเภทใดๆ ผู้ใช้งานควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าทรัพย์สินทางปัญญาที่ต้องการจะโอนให้แก่กันนั้นเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทใด และเป็นการโอนทรัพย์สินทางปัญญาในกรณีใด ทั้งนี้ ให้เพื่อมั่นใจได้ว่าการโอนทรัย์สินทางปัญญาดังกล่าวจะมีผลโดยสมบูรณ์และไม่เกิดปัญญาและ/หรือข้อพิพาทในภายหลัง

แบบฟอร์มและตัวอย่างต่าง ๆ ที่สามารถดาวน์โหลดได้ในรูปแบบ Word และ PDF

ให้คะแนนคู่มือฉบับนี้