ต้องทำอย่างไร เมื่อคนในครอบครัวเสียชีวิต

ปรับปรุงล่าสุด ปรับปรุงล่าสุด27 มกราคม 2021
คะแนน คะแนน 4.6 - 15 คะแนนโหวต

เมื่อมีคนในครอบครัวเสียชีวิต หลายคนอาจไม่ทราบหรือไม่แน่ใจว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อ เนื่องจากการเสียชีวิตของคนในครอบครัวเสียชีวิตย่อมเป็นความสูญเสียที่ไม่มีใครต้องการและไม่ได้คาดหวังว่าจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการเสียชีวิตโดยฉับพลัน ซึ่งสามี ภรรยา บุตร บิดา มารดา ญาติ เพื่อน ผู้ปกครองของผู้เสียชีวิต หรือผู้อื่นซึ่งได้พบศพผู้เสียชีวิตอาจไม่ได้เตรียมตัวหรือศึกษาข้อมูลเอาไว้ก่อนว่าจะต้องดำเนินอะไรบ้าง และอย่างไร

(1) การดำเนินการเบื้องต้น

เมื่อพบผู้เสียชีวิต ผู้พบศพจะต้องตรวจสอบให้แน่ใจเสียก่อนว่าบุคคลนั้นเสียชีวิตแล้วหรือไม่ หากยังพอมีลมหายใจหรือชีพจรอาจรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลใกล้เคียงเพื่อทำการช่วยชีวิตต่อไป ในกรณีที่พบว่าเสียชีวิตแล้ว ควรติดต่อไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น สถานพยาบาลใกล้เคียงหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเข้ามาตรวจสอบและ/หรือดำเนินการกับศพต่อไป โดยที่ไม่ควรเคลื่อนย้ายศพเอง เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็น

(2) การดำเนินการทางทะเบียน

ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร กำหนดให้มีการแจ้งแจ้งการตาย เมื่อมีคนเสียชีวิต โดยนายทะเบียนจะออกมรณบัตรให้ ซึ่งเป็นเอกสารทางราชการเพื่อรับรองว่าบุคคลดังกล่าวเสียชีวิตแล้วและใช้ในการดำเนินการอื่นต่อไป โดยอาจแบ่งได้เป็นกรณี ดังต่อไปนี้

(ก) พบการเสียชีวิตในบ้าน

กฎหมายกำหนดให้ผู้เป็นเจ้าบ้านตามทะเบียนบ้านที่พบผู้เสียชีวิตแจ้งต่อนายทะเบียน (เช่น ผู้อำนวยการเขต ปลัดเทศบาล นายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน) ภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่เสียชีวิต หรือในกรณีไม่มีเจ้าบ้าน ให้ผู้พบศพแจ้งภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาพบศพ

ในการแจ้งตาย ผู้เป็นเจ้าบ้านซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่แจ้งตาย อาจมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปดำเนินการแจ้งตายแทนได้ โดยจัดทำ หนังสือมอบอำนาจ พร้อมแนบ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เป็นเจ้าบ้านและของผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการแจ้งตาย

(ข) พบการเสียชีวิตนอกบ้าน (เช่น สถานที่สาธารณะ)

กฎหมายกำหนดให้บุคคลที่ไปกับผู้เสียชีวิตหรือผู้พบศพแจ้งต่อนายทะเบียน (เช่น ผู้อำนวยการเขต ปลัดเทศบาล นายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน) หรือพนักงานตำรวจท้องที่ที่มีการตายหรือพบศพหรือท้องที่อื่นที่สามารถจะแจ้งก็ได้ ภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาตายหรือเวลาพบศพ

(ค) พบการเสียชีวิตที่ต่างประเทศ

กฎหมายกำหนดให้ญาติ บุคคลที่ไปกับผู้ตาย หรือผู้พบศพ แจ้งการตายต่อนายทะเบียน (เช่น กงสุลไทยหรือข้าราชการสถานทูตไทย) ภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาตายหรือเวลาพบศพ

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่มีการคมนาคมไม่สะดวก (เช่น อยู่ในชนบทห่างไกล) เจ้าหน้าที่อาจมีการขยายระยะเวลาได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ไม่เกิน 7 วันนับแต่เวลาตายหรือเวลาพบศพ

บุคคลดังกล่าวข้างต้นหากไม่ดำเนินการแจ้งตามระยะเวลาที่กำหนดอาจมีโทษปรับถึง 1,000 บาท

ในการแจ้งตาย มีเอกสารที่จะต้องใช้ประกอบการดำเนินการแตกต่างกันไปในแต่ละกรณีนี้ ดังต่อไปนี้

กรณี (ก) พบการเสียชีวิตในบ้าน และ (ข) พบการเสียชีวิตนอกบ้าน ได้แก่

  • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง
  • สำเนาทะเบียนบ้านที่ผู้เสียชีวิตมีชื่ออยู่
  • บัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียชีวิต
  • หนังสือรับรองการตายซึ่งออกโดยแพทย์ผู้รักษาพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจออกหนังสือรับรองการตาย และ
  • ใบรับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสถาบันนิติเวช กรณีที่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ

กรณี (ค) พบการเสียชีวิตที่ต่างประเทศ ได้แก่

  • หนังสือเดินทางและบัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง
  • หนังสือเดินทางของผู้เสียชีวิต
  • หนังสือรับรองการตายซึ่งออกโดยหน่วยงานท้องถิ่น และ
  • หนังสือรับรองการตายจากโรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่รับรองการเสียชีวิตได้

ทั้งนี้เอกสารอาจแตกต่างกันตามแต่สถานกงสุลไทยหรือสถานทูตไทยในแต่ละประเทศ

(3) การชันสูตรพลิกศพและการดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย

กฎหมายการสอบสวนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดให้ต้องมีการชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้

(ก) เมื่อปรากฏแน่ชัดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นการเสียชีวิตโดยผิดธรรมชาติ ได้แก่

  • การฆ่าตัวตาย
  • การถูกผู้อื่นทำให้ตาย
  • การถูกสัตว์ทำร้ายตาย
  • การตายโดยอุบัติเหตุ
  • การตายโดยยังไม่ปรากฏเหตุ

(ข) เมื่อเป็นการเสียชีวิตในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานที่ไม่ใช่การประหารชีวิตตามกฎหมาย

โดยในกรณีที่จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพ ผู้มีหน้าที่แจ้งจะต้องไปแจ้งความแก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยเร็วที่สุด และเก็บศพไว้ที่ซึ่งพบนั้นเท่าที่จะทำได้โดยไม่เคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนแปลงสภาพศพ เว้นแต่มีเหตุผลความจำเป็น

เมื่อผลการชันสูตรพลิกศพออกแล้ว ผู้เกี่ยวข้องอาจดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป เช่น การแจ้งตายเพื่ออกใบมรณบัตร ดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความคิดในกรณีที่ผลชันสูตรบ่งชี้ว่าผู้เสียชีวิตถูกฆาตกรรม เป็นต้น

(4) การประกอบพิธีทางศาสนาหรือตามความเชื่อต่างๆ

การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่วัด โบสถ์ หรือสุสาน ตามความเชื่อต่างๆ ที่ผู้เสียชีวิตและครอบครัวผู้เสียชีวิตนับถือหรือเชื่อถือหรือตามเจตนารมณ์ของผู้เสียชีวิตที่ได้แสดงไว้ก่อนเสียชีวิต เช่น

  • ในกรณีศาสนาพุทธ เช่น การจัดงานพิธีศพ การรดน้ำศพ การบำเพ็ญกุศลสวดอภิธรรม การฌาปนกิจศพ การเก็บอัฐิ การลอยอังคาร
  • ในกรณีความเชื่ออื่นๆ เช่น การแช่แข็งศพเพื่อจัดเก็บเอาไว้สำหรับการรักษาในอนาคต
  • ในกรณีตามเจตนารมณ์ของผู้เสียชีวิต เช่น การบริจาคร่างกายและ/หรืออวัยวะให้แก่หน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการรักษาพยาบาล

การจัดพิธีศพหรือการจัดการกับศพผู้เสียชีวิต ผู้เสียชีวิตอาจกำหนดแนวทางเอาไว้ในพินัยกรรมขณะตนยังมีชีวิตอยู่ก็ได้ว่าต้องการให้ จัดการกับศพของตนอย่างไรและลักษณะใด

(5) การจัดการทรัพย์สิน

เมื่อบุคคลเสียชีวิต สินทรัพย์ต่างๆ ที่ไม่ใช่สิทธิหน้าที่ความรับผิดที่เป็นการเฉพาะตัวของผู้เสียชีวิต เช่น

  • ทรัพย์สิน เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ เงินสด เงินในบัญชีธนารคาร ตราสาร ที่เป็นกรรมสิทธิของผู้เสียชีวิต
  • สิทธิ เช่น สิทธิในหนี้เงินกู้ที่ผู้เสียชีวิตเป็นเจ้าหนี้ สิทธิในค่าสินไหมทดแทนค้างชำระต่างๆ ที่ผู้เสียชีวิตมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย สิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิเรียกร้องต่างๆ ตามกฎหมายและ/หรือตามสัญญาที่ผู้เสียชีวิตเป็นคู่สัญญา
  • หน้าที่ ความรับผิด เช่น หน้าที่ที่ต้องโอนทรัพย์สินให้ธนาคารทำสัญญาจำนอง หนี้สินที่ผู้เสียชีวิตก่อขึ้น

โดยทรัพย์สินและหนี้สินเหล่านี้ ย่อมถือเป็นมรดกซึ่งจะต้องมีการจัดการตามกฎหมายมรดกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อย่างไรก็ดี ในบางกรณี ผู้เสียชีวิตอาจได้มีการทำพินัยกรรมเอาไว้ในขณะที่ตนยังมีชีวิตอยู่ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงปัญหาการทะเลาะกันภายในครอบครัวเกี่ยวกับการจัดการมรดก ในกรณีเช่นนี้การจัดการมรดกก็จะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้เสียชีวิตที่กำหนดให้ในพินัยกรรมดังกล่าว

โดยที่พินัยกรรมตามกฎหมายมีถึง 5 แบบ ได้แก่

1. พินัยกรรมแบบธรรมดา โดยต้องทำเป็นหนังสือ จะเขียนหรือพิมพ์ขึ้นเองหรือจะให้บุคคลอื่นเขียนหรือพิมพ์ให้ก็ได้ โดยจะต้องลงวันที่ทำพินัยกรรม ลงชื่อผู้ทำพินัยกรรม และต้องมีพยานรับรองว่าผู้ทำพินัยกรรมได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมจริงอย่างน้อยสองคน

2. พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ โดยต้องทำเป็นหนังสือ ซึ่งผู้ทำพินัยกรรมจะต้องเป็นผู้เขียนข้อความ เนื้อหา ข้อกำหนด คำสั่งที่ระบุในพินัยกรรมนั้นเองทั้งหมดเท่านั้น กล่าวคือต้องเป็นลายมือของเจ้าของพินัยกรรมเองเท่านั้น โดยจะต้องลงวันที่ทำพินัยกรรม ลงชื่อผู้ทำพินัยกรรม แต่ไม่จำเป็นต้องมีพยานรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรม

3. พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง โดยผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งข้อความ เนื้อหา ข้อกำหนด คำสั่งที่ตนประสงค์จะให้ลงไว้ในพินัยกรรมต่อนายอำเภอต่อหน้าพยานอีกอย่างน้อยสองคนพร้อมกันเพื่อให้ผู้อำนวยการเขต หรือนายอำเภอจดบันทึกข้อความตามที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้ง โดยที่ผู้ทำพินัยกรรมและพยานต้องลงลายมือชื่อ และผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอต้องลงลายมือชื่อ ประทับตราตำแหน่ง และลงวันที่ทำพินัยกรรม และดำเนินการที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งพินัยกรรมประเภทนี้นี้จะมีบุคคลที่สามซึ่งเป็นราชการได้แก่ ผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอ เข้ามาเกี่ยวข้องทำให้การทำลาย ปลอมแปลง หรือแก้ไขพินัยกรรมโดยบุคคลซึ่งไม่ประสงค์ดีหรือเพื่อให้ไม่เป็นตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมนั้นสามารถทำได้ยาก

4. พินัยกรรมแบบเอกสารลับ โดยที่ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรมและนำพินัยกรรมใส่ซองแล้วปิดผนึก และลงลายมือชื่อคาบรอยผนึกนั้นอีกครั้ง และนำซองที่ผลึกแล้วนั้นไปแสดงต่อผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอ พร้อมกับพยานอีกอย่างน้อยสองคน

5. พินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา โดยที่ผู้ทำพินัยกรรมต้องแสดงความประสงค์จะทำพินัยกรรมต่อหน้าพยานสองคนพร้อมกัน ซึ่งอยู่ ณ ที่นั้น และพยานทั้งสองคนนั้นต้องไปแสดงตัวต่อผู้อำนวยการเขตหรือนายอำเภอภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อจดบันทึกข้อความตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมนั้นและพยานทั้งสองก็ต้องลงลายมือชื่อด้วย อย่างไรก็ดี พินัยกรรมประเภทนี้จะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อ ในขณะนั้นผู้ทำพินัยกรรมอยู่ในสถานการณ์พิเศษเท่านั้น เช่น อยู่ในอันตรายใกล้ตาย มีโรคระบาด หรือสงคราม เป็นต้น

ผู้เกี่ยวข้องอาจจะต้องตรวจสอบกับญาติสนิทของผู้เสียชีวิต ทนายความของผู้เสียชีวิต นายทะเบียนราษฎร์ หรือผู้อยู่กับผู้ตายคนสุดท้าย เพื่อตรวจสอบว่าผู้เสียชีวิตได้มีการจัดทำพินัยกรรมแบบใดแบบหนึ่งเอาไว้หรือไม่ อย่างไร

แบบฟอร์มและตัวอย่างต่าง ๆ ที่สามารถดาวน์โหลดได้ในรูปแบบ Word และ PDF

ให้คะแนนคู่มือฉบับนี้