รูปแบบองค์กรธุรกิจแบบใดที่เหมาะสมกับลักษณะกิจการของท่านที่สุด (เช่น บุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วน บริษัท)

ปรับปรุงล่าสุด ปรับปรุงล่าสุด15 พฤศจิกายน 2019
คะแนน คะแนน 5 - 1 คะแนนโหวต

ในการดำเนินกิจการหรือธุรกิจใดๆ ซึ่งเป็นการแสวงหาผลกำไรนั้น ไม่ว่าขนาดกิจการหรือธุรกิจนั้นจะมีขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่และไม่ว่ากิจการหรือธุรกิจนั้นจะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมใด สิ่งหนึ่งที่ผู้เป็นเจ้ากิจการหรือธุรกิจนั้นจะต้องพิจารณาก็คือ รูปแบบองค์กรธุรกิจที่จะใช้ในการประกอบกิจการหรือธุรกิจนั้น

รูปแบบองค์กรธุรกิจที่เลือกใช้นั้นล้วนมีผลต่อกิจการหรือธุรกิจไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม เช่น ข้อจำกัดของจำนวนผู้ร่วมเป็นเจ้าของหรือร่วมลงทุนในกิจการหรือธุรกิจนั้น การจำกัดความรับผิดหรือแยกความรับผิดของกิจการหรือธุรกิจนั้นออกจากผู้เจ้าของกิจการหรือธุรกิจนั้น อัตราภาษีและสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้ ภาระหน้าที่การปฏิบัติตามกฎหมาย ความน่าเชื่อถือของกิจการหรือธุรกิจ ข้อกำหนดของคู่ค้า คู่สัญญาของกิจการหรือธุรกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่กำหนดรูปแบบกิจการหรือธุรกิจที่จะเข้าประมูลหรือที่จะเข้าทำสัญญาด้วย หรือข้อกำหนดของกฎหมายเกี่ยวกับการให้อนุญาตประกอบกิจการควบคุมบางประเภทที่กำหนดรูปแบบกิจการหรือธุรกิจไว้เฉพาะที่จะสามารถขอรับอนุญาต เป็นต้น

โดยหากจำแนกรูปแบบองค์กรตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว อาจแบ่งรูปแบบองค์กรธุรกิจได้ ดังต่อไปนี้

กิจการที่มีเจ้าของรายเดียว

การประกอบกิจการหรือธุรกิจในรูปแบบเจ้าของกิจการรายเดียวนั้น คือการที่มี

  • บุคคลธรรมดา 1 คน (เช่น นายสมชายหรือนางสมใจ)
  • เป็นเจ้าของกิจการหรือธุรกิจนั้น
  • อาจมีชื่อทางการค้าของกิจการหรือธุรกิจ (เช่น ชื่อร้าน ชื่อกิจการ) ที่ต่างไปจากชื่อของบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของกิจการนั้นก็ได้ ทั้งนี้ ไม่รวมลูกจ้างหรือพนักงานซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจ ควบคุม หรือร่วมลงทุนในกิจการหรือธุรกิจนั้น

เนื่องจากการดำเนินการและอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่บุคคลผู้เป็นเจ้าของเพียงคนเดียวทำให้กิจการหรือธุรกิจดังกล่าวสามารถดำเนินการหรือตัดสินใจใดๆ ได้โดยอิสระ คล่องตัว และรวดเร็ว ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาหรือปรับกลยุทธ์การดำเนินกิจการหรือธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัว

นอกจากนี้ เนื่องจากมีผู้เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกิจการหรือธุรกิจเพียงรายเดียวทำให้มีภาระหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายบางประการที่น้อยกว่ารูปแบบองค์กรธุรกิจอื่นๆ (เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด) เช่น หน้าที่การปฏิบัติตามกฎหมายหุ้นส่วนและบริษัทประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หน้าที่เกี่ยวกับการทำบัญชีทางการเงินตามกฎหมายภาษีเงินได้ประมวลรัษฎากร

อย่างไรก็ดี กิจการที่มีเจ้าของรายเดียวอาจมีข้อจำกัดทางด้านแหล่งเงินทุน เนื่องจากมีผู้ลงทุนเพียงคนเดียวเท่านั้นซึ่งก็คือผู้เป็นเจ้าของกิจการนั้นนั่งเอง จึงอาจทำให้การระดุมทุนหรือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของกิจการที่มีเจ้าของรายเดียวมีจำกัดอยู่เพียงการกู้ยืมหรือการนำเงินสะสมหรือเงินกำไรจากการดำเนินกิจการหรือธุรกิจของตนที่ผ่านมา มาใช้เมื่อกิจการหรือธุรกิจมีความต้องการเพิ่มสภาพคล่องหรือเมื่อต้องการขยายกิจการหรือลงทุนเพิ่มเติม

นอกจากนี้ เนื่องจากเจ้าของกิจการและตัวกิจการถือเป็นบุคคลเดียวกันตามกฎหมาย เมื่อกิจการหรือธุรกิจนั้นมีหน้าที่ความรับผิดต่างๆ (เช่น หนี้สินจากเจ้าหนี้ โทษทางกฎหมาย เป็นต้น) บุคคลซึ่งเป็นเจ้าของกิจการนั้นก็จะต้องรับผิดชอบหน้าที่ความรับผิดนั้นทั้งหมด โดยไม่มีการแบ่งแยกว่าเป็นหน้าที่ความรับผิดส่วนตัวหรือของกิจการ

การไม่มีการแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดส่วนตัวกับส่วนของกิจการ ทำให้มีความเสี่ยงในกรณีที่กิจการหรือธุรกิจมีหนี้สินจำนวนมากและไม่สามารถชำระหนี้ได้ ทำให้ผู้เป็นเจ้าของกิจการถูกฟ้องร้องและอาจถูกบังคับคดีโดยการนำสินทรัพย์ของเจ้าของกิจการมาชำระหนี้ของกิจการนั้น ซึ่งสินทรัพย์นั้นอาจเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการนั้นๆ เลย เช่น สินทรัพย์ส่วนตัวหรือสินทรัพย์ของอีกกิจการหนึ่งซึ่งมีเจ้าของกิจการคนเดียวกัน ในกรณีที่เจ้าของกิจการนั้นประกอบการหลายกิจการหรือหลายธุรกิจ

อีกทั้ง เนื่องจาก กิจการหรือธุรกิจอยู่ภายใต้การตัดสินใจของเจ้าของเพียงรายเดียว ข้อจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การไร้การแบ่งแยกความรับผิดระหว่างกิจการกับความรับผิดส่วนตัวหรือระหว่างกิจการกับกิจการอื่นที่มีเจ้าของเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ กิจการที่มีเจ้าของรายเดียวจึงอาจมีปัญหาเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของกิจการหรือธุรกิจนั้นด้วย

กิจการที่มีเจ้าของรายเดียวนั้น ประกอบกิจการในรูปแบบบุคคลธรรมดาจึงไม่จำเป็นต้องมีการจดทะเบียนจัดตั้งแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี อาจต้องมีการจดทะเบียนพาณิชย์ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ โดยที่ กิจการหรือธุรกิจจะเสียภาษีเงินได้ของกิจการในรูปแบบของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งมีอัตราภาษีที่ก้าวหน้า กล่าวคือ อาจไม่ต้องเสียภาษีใดๆ เลยหากกิจการหรือธุรกิจมีเงินได้สุทธิน้อยหรืออาจเสียภาษีในอัตราสูงสุดถึงร้อยละ 35 ของเงินได้สุทธิ ในกรณีที่กิจการมีเงินได้สุทธิสูง ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎหมายภาษีเงินได้ประมวลรัษฎากร

ห้างหุ้นส่วน

ห้างหุ้นส่วน คือการที่มี

  • บุคคลธรรมดาตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป (เช่น นายสมชายกับนางสมใจ)
  • เข้าทำสัญญาเข้าหุ้นส่วน (Partnership Agreement) ซึ่งตกลงจะเข้าทำกิจการหรือธุรกิจร่วมกันเพื่อแบ่งปันผลกำไรจากการดำเนินกิจการหรือธุรกิจนั้น
  • การเข้าหุ้นนั้นผู้เป็นหุ้นส่วนอาจนำ เงิน ทรัพย์สิน (เช่น อาคาร ที่ดิน อุปกรณ์) หรือแรงงาน (เช่น การทำงานให้กับกิจการ) ของตนมาเข้าหุ้นเพื่อลงทุนและใช้ในการดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้นก็ได้

อาจกล่าวได้ว่า ห้างหุ้นส่วนก็คือกิจการหรือธุรกิจที่มีเจ้าของตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมกันลงทุนและ/หรือบริหารจัดการกิจการ โดยนอกจากข้อตกลงเกี่ยวกับการแบ่งปันผลกำไรแล้ว ผู้เป็นหุ้นส่วนยังสามารถตกลงข้อกำหนดอื่นๆ เกี่ยวกับการดำเนินการห้างหุ้นส่วนนั้นได้ด้วย เช่น การแบ่งหน้าที่ในการบริหารจัดการของผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคน หรือจะตกลงให้เป็นอำนาจของหุ้นส่วนบางคนก็ได้ ในกรณีนี้จะเรียกหุ้นส่วนที่ถูกแต่งตั้งให้มีหน้าที่บริหารจัดการงานของกิจการว่า หุ้นส่วนผู้จัดการ (Managing Partner) หลักเกณฑ์การแบ่งกำไรและขาดทุน การระงับข้อพิพาท เป็นต้น

อีกทั้ง แม้จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับห้างหุ้นส่วนกำหนดเอาไว้อันได้แก่ หน้าที่การปฏิบัติตามกฎหมายหุ้นส่วนและบริษัทประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ก็ไม่ได้มีมาตรการที่ละเอียดเท่ากับบริษัทจำกัดในบางประการจึงอาจมีปัญหาด้านความน่าเชื่อถือได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี เนื่องจากมีเจ้าของ (ผู้เป็นหุ้นส่วน) หลายคน จึงเป็นการร่วมลงทุนกันจึงทำให้กิจการหรือธุรกิจมีทางเลือกแหล่งเงินทุนหรือสภาพคล่องทางการเงินที่มากกว่ากิจการที่มีเจ้าของรายเดียว ทำให้อาจมีศักยภาพในการประกอบกิจการที่ขนาดใหญ่กว่ากิจการที่มีเจ้าของรายเดียว

นอกจากนี้ ตามกฎหมายภาษีแล้วห้างหุ้นส่วนถือเป็นหน่วยภาษีหนึ่ง จึงทำให้กิจการมีการแยกความรับผิดทางภาษีของกิจการออกจากความรับผิดทางภาษีส่วนบุคคลของผู้เป็นหุ้นส่วน กล่าวคือ มีการแยกฐานภาษีระหว่างกิจการกับผู้เป็นเจ้าของนั่นเอง

อนึ่ง ห้างหุ้นส่วนยังอาจสามารถแบ่งย่อยได้ อีก 3 ประเภท ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกันไป ดังต่อไปนี้

(ก) ห้างหุ้นส่วนสามัญ

ห้างหุ้นส่วนสามัญ คือห้างหุ้นส่วนที่ไม่ได้มีการจดทะเบียนธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จึงไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกออกจากผู้เป็นหุ้นส่วน ด้วยเหตุนี้ ความรับผิดใดๆ ที่กิจการก่อขึ้น (เช่น หนี้สิน) ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนก็ยังต้องร่วมรับผิดชอบกับภาระความรับผิดของกิจการทั้งหมด โดยไม่มีการแบ่งแยกทรัพย์ส่วนตัวของหุ้นส่วนหรือทรัพย์สินที่นำมาใช้ในการเข้าหุ้นส่วนในกิจการ

โดยที่ ห้างหุ้นส่วนสามัญจะเสียภาษีเงินได้ของกิจการในรูปแบบของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งมีอัตราภาษีที่ก้าวหน้า กล่าวคือ อาจไม่ต้องเสียภาษีใดๆ เลยหากกิจการหรือธุรกิจมีเงินได้สุทธิน้อยหรืออาจเสียภาษีในอัตราสูงสุดถึงร้อยละ 35 ของเงินได้สุทธิ ในกรณีที่กิจการมีเงินได้สุทธิสูง ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎหมายภาษีเงินได้ประมวลรัษฎากร

(ข) ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน

ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน คือห้างหุ้นส่วนที่ได้มีการจดทะเบียนธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จึงมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกออกจากผู้เป็นหุ้นส่วน จึงเสียภาษีเงินได้ของกิจการในรูปแบบของภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งมีอัตราภาษีที่คงที่ โดยที่จะมีภาระหน้าที่ในการจัดทำบัญชีที่เพิ่มขึ้นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประมวลรัษฎากร อีกทั้ง ยังอาจมีความน่าเชื่อถือมากกว่าห้างหุ้นส่วนสามัญเล็กน้อย

อย่างไรก็ดี แม้จะมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกออกจากผู้เป็นหุ้นส่วนก็ตาม ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนก็ยังคงต้องรับผิดต่อหน้าที่ความรับผิดที่กิจการก่อขึ้นทั้งหมดทุกคนโดยที่ไม่มีการจำกัดความรับผิดหรือแยกความรับผิดจากทรัพย์สินส่วนตัวของหุ้นส่วนกับทรัพย์สินที่นำมาเข้าหุ้นในกิจการของหุ้นส่วนเช่นเดียวกันกับห้างหุ้นส่วนสามัญ

(ค) ห้างหุ้นส่วนจำกัด

ห้างหุ้นส่วนจำกัด คือห้างหุ้นส่วนที่ได้มีการจดทะเบียนธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จึงมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกออกจากผู้เป็นหุ้นส่วน ดังนี้ จึงเสียภาษีเงินได้ของกิจการในรูปแบบของภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งมีอัตราภาษีที่คงที่ โดยที่จะมีภาระหน้าที่ในการจัดทำบัญชีที่เพิ่มขึ้นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประมวลรัษฎากร

โดยที่ ห้างหุ้นส่วนจำกัดจะมีผู้เป็นหุ้นส่วนแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

(ก) หุ้นส่วนที่จำกัดความรับผิด และ
(ข) หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด

โดยที่หุ้นส่วนที่จำกัดความรับผิดจะมีการแบ่งแยกความรับผิดระหว่างทรัพย์สินส่วนตัวกับทรัพย์สินที่นำมาเข้าหุ้นในกิจการ ในขณะที่ หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดจะต้องรับผิดชอบกับความรับผิดต่างๆ ของห้างหุ้นส่วนทั้งหมดโดยไม่มีการจำกัดหรือแบ่งแยกความรับผิด อย่างไรก็ดี หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้นที่จะสามารถเป็น หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนได้

บริษัทจำกัด

บริษัทจำกัด คือการที่ มี

  • บุคคล (ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปในกรณีบริษัทจำกัดหรือ 15 คนขึ้นไปในกรณีบริษัทมหาชนจำกัด)
  • เข้าร่วมกันจัดตั้งบริษัทขึ้น
  • มีการออกหุ้นของบริษัทเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้ที่จะมาเป็นเจ้าของหรือลงทุนในบริษัทซึ่งเรียกว่า ผู้ถือหุ้น (ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปในกรณีบริษัทจำกัดหรือ 15 คนขึ้นไปในกรณีบริษัทมหาชนจำกัด) โดยผู้ถือหุ้น ถือหุ้นในจำนวนหรือสัดส่วนที่มากก็มีสัดส่วนความเป็นเจ้าของบริษัทตามสัดส่วนหุ้นที่ตนเองถือนั้น และ
  • มีการจดทะเบียนธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ จึงมีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกออกจากตัวเจ้าของกิจการ
  • บริหารจัดการงานของบริษัทจะมีบุคคลที่เรียกว่า กรรมการบริษัท เป็นผู้ดำเนินการจัดการงานทั่วไปของบริษัท ซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของบริษัทนั้น
  • ผู้ถือหุ้นอาจกำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินงานภายในของบริษัทไว้เป็น ข้อบังคับบริษัท เพื่อให้ ผู้ถือหุ้น กรรมการปฏิบัติตามก็ได้

ดังนี้ บริษัทจำกัดจึงเสียภาษีเงินได้ของกิจการในรูปแบบของภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งมีอัตราภาษีที่คงที่ โดยที่จะมีภาระหน้าที่ในการจัดทำบัญชีที่เพิ่มขึ้นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประมวลรัษฎากร อีกทั้ง บริษัทจำกัดยังมีการแบ่งแยกความรับผิดของบริษัทจากผู้ถือหุ้นอย่างชัดเจน โดยที่ผู้ถือหุ้นจะมีหน้าที่ความรับผิดเพียงค่าหุ้นของบริษัทตามจำนวนที่ตนถือเท่านั้น

ในขณะที่บริษัทจำกัดจะมีภาระหน้าที่การปฏิบัติตามกฎหมาย หรือกระบวนการในการบริการจัดการงานของบริษัทที่ซับซ้อนกว่า เนื่องจากมีผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ที่มีส่วนได้เสียที่มากขึ้น ด้วยเหตุเดียวกันนี้ บริษัทจำกัดจึงมีความสามารถและทางเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มากกว่าห้างหุ้นส่วน

อนึ่ง ในกรณีที่บริษัทต้องมีการดำเนินการอันเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ใช่กิจการประจำวันทั่วไป กรรมการอาจะต้องได้รับความเเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อน ซึ่งต้องมีการเรียกประชุมและการจัดประชุมตามแบบ ระยะเวลา และวิธีที่กฎหมายหรือข้อบังคับกำหนดจึงอาจทำให้เกิดความล่าช้าในการตัดสินใจของบริษัท

นอกจากนี้ ผู้เป็นผู้ถือหุ้นอาจโอนหุ้นของตนให้แก่บุคคลอื่นเพื่อขายหรือให้สิทธิความเป็นเจ้าของบริษัทหรือกิจการนั้นก็ได้ บริษัทจึงมีความคล่องตัวในการเปลี่ยนแปลงผู้เป็นเจ้าของกิจการมากกว่าห้างหุ้นส่วนหรือกิจการที่มีเจ้าของรายเดียว

โดยบริษัทจำกัด อาจสามารถแบ่งได้อีก 2 ประเภท ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

(ก) บริษัทจำกัด

บริษัทจำกัดหรือบริษัทเอกชนจำกัด คือบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายหุ้นส่วนและบริษัทประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยกำหนดให้ต้องมีกรรมการบริษัทอย่างน้อย 1 คน เพื่อบริหารจัดการงานของบริษัทโดยไปตามที่ผู้ถือหุ้นกำหนด

เนื่องจากมีผู้เกี่ยวข้องซึ่งมีส่วนได้เสียกับบริษัท (เช่น ผู้ถือหุ้น กรรมการ) น้อยกว่าบริษัทมหาชนจำกัด ภาระหน้าที่การปฏิบัติตามกฎหมายจึงมีน้อยกว่าบริษัทมหาชนจำกัดด้วยเช่นกัน

การโอนหุ้นซึ่งตามใบหุ้นชนิดระบุชื่อของบริษัทจำกัด ผู้ถือหุ้นสามารถโอนโดยทำสัญญาโอนหุ้นบริษัท ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับข้อจำกัดหรือเงื่อนไขการโอนหุ้นที่บริษัทกำหนด (ถ้ามี)

(ข) บริษัทมหาชนจำกัด

บริษัทมหาชนจำกัด คือบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายบริษัทมหาชนตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด โดยที่กฎหมายกำหนดให้บริษัทมหาชนจำกัดต้องมีกรรมการอย่างน้อย 5 คน

เนื่องจากบริษัทมหาชนอาจเสนอขายหุ้นต่อประชาชนเป็นวงกว้างได้ หากได้ดำเนินการตามกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แล้วหรือที่เรียกว่าบริษัทจดทะเบียน (เช่น การเสนอขายหุ้นต่อประชาชนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) จึงทำให้บริษัทมหาชนมีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากที่สุด

ด้วยเหตุเดียวกันนี้ บริษัทมหาชนจำกัด จึงมีกฎเกณฑ์ กฎระเบียบ และภาระหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายมากที่สุดด้วย โดยเฉพาะหากบริษัทมหาชนดังกล่าวเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วยแล้วนั้นย่อมต้องมีกฎเกณฑ์ของกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เข้ามาเกี่ยวอีกส่วนหนึ่งด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ถือหุ้นที่มีจำนวนมากนั่นเอง

ดังนี้ บริษัทมหาชนจึงเหมาะสมกับกิจการหรือธุรกิจที่มีขนาดใหญ่หรือกิจการหรือธุรกิจที่ต้องการใช้เงินลงทุนจำนวนมาก เป็นต้น

กิจการที่มีเจ้าของหลายคน (เช่น ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด) อาจเกิดความขัดแย้งหรือข้อพิทาทระหว่างผู้เป็นเจ้าของกิจการนั้นได้ ผู้เป็นเจ้า (เช่น หุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น) ควรกำหนดแนวทางและวิธีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือข้อพิพาทในกรณีต่างๆ เอาไว้ ในสัญญาเข้าหุ้นส่วนในกรณีห้างหุ้นส่วน หรือข้อบังคับบริษัทในกรณีของบริษัทจำกัด ด้วย

สรุป

ในการเลือกรูปแบบองค์กรธุรกิจใดนั้น อาจขึ้นอยู่กับความต้องการของกิจการและเจ้าของกิจการว่าจะเลือกใช้รูปแบบกิจการหรือธุรกิจใดที่เหมาะสมกับความต้องการมากที่สุด เนื่องจากแต่ละรูปแบบก็มีลักษณะ ข้อดี และข้อเสียแตกต่างกันไป โดยอาจใช้หลักเกณฑ์หรือปัจจัยดังต่อไปนี้ในการพิจารณา

  • ลักษณะการดำเนินธุรกิจ
  • อำนาจการตัดสินใจและการควบคุมกิจการหรือธุรกิจ
  • ความน่าเชื่อถือของกิจการหรือธุรกิจ
  • การแยกหรือจำกัดความรับผิดระหว่างกิจการกับผู้เป็นเจ้าของ
  • แหล่งเงินทุนและขนาดของกิจการหรือธุรกิจ
  • ภาระหน้าที่การปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น การจดทะเบียนธุรกิจ การปฏิบัติตามกฎหมาย การจัดทำบันทึก รายงาน บัญชีต่างๆ รวมถึงการสอบบัญชี
  • รูปแบบการเสียภาษีและสิทธิประโยชน์ทางภาษี
  • ความคล่องตัวในการเปลี่ยนแปลงตัวเจ้าของกิจการ เช่น การโอนหรือขายกิจการ
  • ข้อกำหนดหรือกฎหมายเฉพาะที่ควบคุมกิจการบางประเภทที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ประกอบกิจการเอาไว้ เช่น ต้องเป็นนิติบุคคลหรือต้องเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เท่านั้น จึงจะมีคุณสมบัติในการขออนุญาตหรือเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ เป็นต้น

กิจการหรือธุรกิจ ไม่ว่าจะดำเนินการในรูปแบบองค์กรธุรกิจใด อาจต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหากกิจการหรือธุรกิจมีลักษณะตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มประมวลรัษฎากรกำหนด

แบบฟอร์มที่สามารถดาวน์โหลดได้ในรูปแบบ Word และ PDF

ให้คะแนนคู่มือฉบับนี้