สัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ กรอกแบบฟอร์ม

ต้องทำยังไงบ้าง

1. เลือกแบบฟอร์มนี้

เริ่มต้นโดยการคลิกที่ "กรอกแบบฟอร์ม"

1 / เลือกแบบฟอร์มนี้

2. กรอกเอกสาร

ตอบคำถามบางข้อแล้วเอกสารของคุณก็จะถูกสร้างขึ้นเองโดยอัตโนมัติ

2 / กรอกเอกสาร

3. บันทึก - พิมพ์

เอกสารของคุณพร้อมแล้ว คุณจะได้รับเอกสารดังกล่าวในรูปแบบ Word และ PDF ซึ่งคุณสามารถทำการแก้ไขได้

3 / บันทึก - พิมพ์

ตัวเลือกพิเศษสำหรับการปรึกษาทนายความ

คุณสามารถเลือกที่จะขอรับความช่วยเหลือจากทนายความได้หลังจากกรอกเอกสารเสร็จแล้ว

ตัวเลือกพิเศษสำหรับการปรึกษาทนายความ

สัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์

ปรับปรุงล่าสุด ปรับปรุงล่าสุด 15/04/2567
รูปแบบ รูปแบบWord และ PDF
ขนาด ขนาด24 ถึง 37 หน้า
กรอกแบบฟอร์ม

ปรับปรุงล่าสุดปรับปรุงล่าสุด 15/04/2567

รูปแบบรูปแบบที่มีให้ Word และ PDF

ขนาดขนาด 24 ถึง 37 หน้า

ตัวเลือก ความช่วยเหลือจากทนายความ

กรอกแบบฟอร์ม

สัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์คืออะไร

สัญญาแฟรนไชส์ สัญญาขายแฟรนไชส์ หรือสัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise Agreement) คือ สัญญาที่มีคู่สัญญา 2 ฝ่าย ได้แก่ แฟรนไชส์ซอร์/ผู้ขายแฟรนไชส์ซึ่งเป็นเจ้าของแฟรนไชส์และเป็นผู้ให้สิทธิในการประกอบธุรกิจ และแฟรนไชส์ซี/ผู้ซื้อแฟรนไชส์ซึ่งเป็นผู้รับสิทธิในการประกอบธุรกิจ โดยผู้ขายแฟรนไชส์ตกลงอนุญาตให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์สามารถประกอบธุรกิจได้ตามชื่อธุรกิจ/ชื่อร้าน รูปแบบธุรกิจ สูตรของแฟรนไชส์ (เช่น ธุรกิจร้านอาหารและ/หรือเครื่องดื่ม ร้านค้าสะดวกซื้อ ร้านสะดวกซัก) โดยผู้ซื้อแฟรนไชส์มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ (เช่น ชำระค่าตอบแทนให้ผู้ขายแฟรนไชส์ ซื้อเครื่องมืออุปกรณ์/วัตถุดิบจากผู้ขายแฟรนไชส์ รักษามาตรฐานของธุรกิจ)

เนื่องจากธุรกิจแฟรนไชส์อาจได้รับการพัฒนาต่อยอดสูตรหรือขั้นตอนการผลิตสินค้าและ/หรือการให้บริการ วางแผนระบบและรูปแบบการประกอบธุรกิจจนมีชื่อเสียงเป็นอย่างดีแล้ว จึงทำให้แฟรนไชส์ซี/ผู้ซื้อแฟรนไชส์ที่ต้องการประกอบธุรกิจดังกล่าวเลือกการซื้อสิทธิการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์หรือซื้อแฟรนไชส์จากแฟรนไชส์ซอร์/ผู้ขายแฟรนไชส์แทนที่จะเริ่มต้นพัฒนา วางแผน และสร้างชื่อเสียงธุรกิจของตนเองซึ่งอาจใช้ระยะเวลาที่ยาวนานกว่า

จำเป็นต้องทำสัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ หรือไม่

ไม่จำเป็น ไม่มีกฎหมายกำหนดให้คู่สัญญาต้องจัดทำสัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์เป็นลายลักษณ์อักษร

อย่างไรก็ดี ในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ย่อมมีรายละเอียดและข้อตกลงจำนวนมากที่คู่สัญญาอาจจำเป็นต้องกำหนดและตกลงร่วมกัน เพื่อรักษาผลประโยชน์และความเข้าใจที่ตรงกันของคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย และเพื่อให้การประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ดำเนินไปตามความประสงค์ของคู่สัญญา คู่สัญญาจึงควรจัดทำสัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์เป็นลายลักษณ์อักษร ลงนามโดยคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย

ต้องระบุข้อมูลสำคัญใดบ้างลงในสัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์

คู่สัญญาควรระบุรายละเอียดและข้อความสำคัญในสัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ ดังต่อไปนี้

  • คู่สัญญา เช่น ชื่อ ที่อยู่ เพื่อการอ้างอิงที่ถูกต้อง
  • ธุรกิจแฟรนไชส์ เช่น ชื่อและรูปแบบในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ (เช่น ชื่อร้าน/ชื่อแบรนด์) ลักษณะ ขอบเขต ข้อจำกัดในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์
  • ค่าตอบแทน เช่น ค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ (Franchise Fee) อัตราค่าสิทธิการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ (Royalty Fee) และกำหนดระยะเวลาการชำระค่าตอบแทน
  • ขอบเขตการให้สิทธิประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ เช่น ลักษณะการให้สิทธิ ระยะเวลาการให้สิทธิและการต่อสัญญา
  • การใช้ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องหมายการค้า (เช่น ชื่อร้าน ตรา/ยี่ห้อของร้าน กิจการ หรือสินค้า) ความลับทางการค้า (เช่น สูตรอาหาร วิธีขั้นตอน และเทคนิคในการผลิตสินค้าหรือการให้บริการ)
  • การควบคุมคุณภาพ เช่น วัตถุดิบและอุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการผลิตสินค้าหรือการให้บริการ สินค้าที่ต้องใช้ในการประกอบธุรกิจ มาตรฐานการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์/คู่มือการปฏิบัติงาน การตรวจสอบและประเมินกิจการ
  • การสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือ เช่น การอบรม การสอนงาน การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี การให้คำปรึกษา การให้คำแนะนำการแก้ไขปัญหา
  • ข้อตกลงอื่นๆ เช่น การโฆษณาส่งเสริมการขาย การตรวจสอบบัญชี ข้อตกลงการห้ามค้าแข่ง การเก็บรักษาข้อมูลความลับ การระงับข้อพิพาท

ไม่ควรระบุ/กำหนดข้อมูลลักษณะใดลงในสัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์

คู่สัญญาไม่ควรระบุ/กำหนดข้อตกลงที่มีลักษณะขัดต่อประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์ลงในสัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ เช่น

(1) แฟรนไชส์ซอร์ต้องให้สิทธิในการเปิดสาขาใหม่แก่แฟรนไชส์ซีที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงนั้นก่อนที่จะให้สิทธิในการเปิดสาขาแก่บุคคลอื่นหรือแฟรนไชส์ซอร์เปิดเสียเอง เว้นแต่ ในกรณีที่กฎหมายกำหนดอนุญาตไว้

(2) แฟรนไชส์ซอร์ห้ามกำหนดข้อตกลงหรือเงื่อนไขที่อาจทำให้แฟรนไชส์ซีได้รับความเสียหาย เช่น

  • การบังคับซื้อสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ หรือที่มีปริมาณสูงเกินความจำเป็นโดยไม่รับคืน
  • การบังคับซื้อสินค้าจากแหล่งที่กำหนดโดยเฉพาะ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
  • การเพิ่มภาระหน้าที่ของแฟรนไชส์ซีภายหลังจากทำสัญญาซึ่งไม่มีเหตุผลอันสมควรเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์
  • การกำหนดเงื่อนไขที่แตกต่างกันระหว่างแฟรนไชส์ซีด้วยกันเอง โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Discrimination)

จำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างไรก่อนทำสัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์

แฟรนไชส์ซอร์/ผู้ขายแฟรนไชส์มีหน้าที่ต้องเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลการประกอบธุรกิจให้แฟรนไชส์ซี/ผู้ซื้อแฟรนไชส์ทราบก่อนเข้าทำสัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ เช่น

  • ค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ เช่น ค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ (Franchise Fee) ค่าสิทธิการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ (Royalty Fee) ค่าธรรมเนียมการตลาด ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม ค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นในการประกอบธุรกิจ
  • แผนการดำเนินธุรกิจ เช่น รายละเอียดการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งหมดในปัจจุบัน และแผนในอนาคต แผนการส่งเสริมการขาย
  • การใช้ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ขอบเขตและเงื่อนไขการใช้เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร และลิขสิทธิ์
  • เงื่อนไขการต่อ แก้ไข และยกเลิกสัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์

สัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์เกี่ยวข้องกับใครบ้าง

บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำสัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ ได้แก่

  • แฟรนไชส์ซอร์/ผู้ขายแฟรนไชส์ (เช่น เจ้าของแฟรนไชส์ ผู้ให้สิทธิในการประกอบธุรกิจ) ตัวแทนผู้มีอำนาจของแฟรนไชส์ซอร์/ผู้ขายแฟรนไชส์ (เช่น กรรมการ หุ้นส่วนผู้จัดการ) หรือตัวแทนที่แฟรนไชส์ซอร์/ผู้ขายแฟรนไชส์มอบหมายให้รับผิดชอบเกี่ยวกับการขายแฟรนไชส์ (เช่น ผู้จัดการ/ผู้อำนวยการฝ่ายขาย) ซึ่งเป็นผู้ลงนามในสัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์และผูกพันคู่สัญญาในฐานะแฟรนไชส์ซอร์/ผู้ขายแฟรนไชส์
  • แฟรนไชส์ซี/ผู้ซื้อแฟรนไชส์ (เช่น ผู้ที่ต้องการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์และเป็นผู้ที่ได้รับสิทธิในการประกอบธุรกิจดังกล่าว) ตัวแทนผู้มีอำนาจของแฟรนไชส์ซี/ผู้ซื้อแฟรนไชส์ (เช่น กรรมการ หุ้นส่วนผู้จัดการ) หรือตัวแทนที่แฟรนไชส์ซี/ผู้ซื้อแฟรนไชส์มอบหมายให้รับผิดชอบเกี่ยวกับการซื้อธุรกิจแฟรนไชส์/เปิดกิจการ (เช่น ผู้จัดการ/ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร) ซึ่งเป็นผู้ลงนามในสัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์และผูกพันคู่สัญญาในฐานะแฟรนไชส์ซี/ผู้ซื้อแฟรนไชส์

จะต้องทำอย่างไรต่อหลังจากที่ลงนามในสัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์แล้ว

คู่สัญญาควรจัดทำสัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์เป็นลายลักษณ์อักษร และลงนามโดยคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย รวมถึง พยาน (ถ้ามี) โดยคู่สัญญาอาจจัดทำสัญญาเป็น 2 ฉบับหรือมากกว่าเพื่อให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายยึดถือไว้อ้างอิงได้อย่างน้อยฝ่ายละหนึ่งฉบับและใช้ในการจดทะเบียนต่างๆ (ถ้ามี)

เมื่อจัดทำและลงนามในสัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์เรียบร้อยแล้ว คู่สัญญาอาจพิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้

  • คู่สัญญาแต่ละฝ่ายควรขอเอกสารแสดงตัวตนของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งที่ลงนามรับรองสำเนาถูกต้องมาเก็บไว้ประกอบสัญญาฉบับที่ตนเองถือไว้ด้วย เช่น บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือเดินทาง หนังสือรับรองและบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล (กรณีนิติบุคคล) รวมถึง หนังสือมอบอำนาจ ในกรณีที่มีการมอบอำนาจ
  • คู่สัญญาอาจพิจารณาแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ (ถ้ามี)
  • ในกรณีที่คู่สัญญามีข้อตกลงการอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของธุรกิจแฟรนไชส์ซึ่งมีการจดทะเบียนเอาไว้ (เช่น เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร) คู่สัญญาจะต้องไปดำเนินการจดทะเบียนการอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าวกับนายทะเบียน (เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา)

จะต้องแนบหลักฐานหรือเอกสารประกอบสัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ด้วย หรือไม่

คู่สัญญาอาจพิจารณาแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ (ถ้ามี) เพื่อความชัดเจนและความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันระหว่างคู่สัญญา เช่น

  • รายการ/รายละเอียดเครื่องหมายการค้า (เช่น รูปภาพเครื่องหมายการค้าของกิจการ/ธุรกิจ ตรา สัญลักษณ์ โลโก้ของธุรกิจ ใบสำคัญจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า)
  • รายการ/รายละเอียดความลับทางการค้า (เช่น สูตรอาหาร กรรมวิธี/กระบวนการพิเศษในการผลิตสินค้าหรือให้บริการ)
  • รายการ/รายละเอียดเกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ (เช่น การจัดวาง การออกแบบ/แบบแปลน และรูปภาพการตกแต่งร้าน)
  • รายการ/รายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุดิบ เครื่องมือ และอุปกรณ์ (เช่น รายการสินค้า รายการเครื่องมือ/อุปกรณ์ที่จำเป็นในการประกอบธุรกิจ)
  • รายการ/รายละเอียดเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพ (เช่น กฎ ระเบียบ คู่มือการปฏิบัติงาน ข้อกำหนดการควบคุมคุณภาพ ดัชนีชี้วัดการปฏิบัติงาน)

สัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์จำเป็นจะต้องจดทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือไม่

ไม่จำเป็น คู่สัญญาไม่จำเป็นจะต้องดำเนินการจดทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องใดๆ ในการจัดทำสัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่คู่สัญญามีข้อตกลงการอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของธุรกิจแฟรนไชส์ซึ่งมีการจดทะเบียนเอาไว้ (เช่น เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร) คู่สัญญาจะต้องไปดำเนินการจดทะเบียนการอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าวกับนายทะเบียน (เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา) เพื่อให้การอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าวมีผลโดยสมบูรณ์

สัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์จำเป็นจะต้องมีพยานลงนามด้วย หรือไม่

ไม่จำเป็น กฎหมายไม่ได้กำหนดให้สัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์จำเป็นจะต้องมีพยานลงนามด้วย

อย่างไรก็ดี คู่สัญญาอาจพิจารณาจัดให้มีพยานลงนามในสัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ตามที่เห็นสมควรด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ พยานควรเป็นบุคคลผู้มีความสามารถในการทำนิติกรรมอย่างสมบูรณ์ (เช่น ผู้บรรลุนิติภาวะ อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ ไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ) และไม่ใช่บุคคลที่มีหน้าที่/ภาระผูกพันตามสัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ (เช่น คู่สัญญา)

ทำไมผู้ประกอบธุรกิจ/ผู้ประกอบกิจการมักเลือกเริ่มต้นธุรกิจด้วยการซื้อธุรกิจแฟรนไชส์

ในการเริ่มประกอบธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง หนึ่งในทางเลือกที่ผู้ประกอบธุรกิจ/ผู้ประกอบกิจการมักเลือกใช้ในการเริ่มต้นธุรกิจคือการซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ซึ่งทั้งแฟรนไชส์ซอร์/ผู้ขายแฟรนไชส์และแฟรนไชส์ซี/ผู้ซื้อแฟรนไชส์ต่างก็ได้รับประโยชน์จากการดำเนินธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ เช่น

(ก) ประโยชน์แก่ฝ่ายแฟรนไชส์ซี/ผู้ซื้อแฟรนไชส์

  • ลดเวลาในการสร้างความเชื่อมั่น ความรู้จัก ความนิยม และฐานลูกค้าของกิจการ เนื่องจากธุรกิจแฟรนไชส์มักเป็นธุรกิจที่มีการโฆษณาส่งเสริมการขายหรือมักเป็นสินค้า/บริการที่มีชื่อเสียงแล้ว หรือมีการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์หลายสาขาแล้ว
  • ลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการศึกษาและพัฒนาความรู้ ความเชี่ยวชาญ (เช่น รูปแบบการตกแต่งร้าน สูตรอาหาร กรรมวิธี ขั้นตอนการผลิตสินค้าหรือการให้บริการ การอบรมพนักงาน หรือฐานข้อมูลลูกค้าของธุรกิจ)
  • ลดเวลาในการจัดหาและจัดซื้อทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ (เช่น วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ วัตถุดิบ หรือสินค้าในการดำเนินธุรกิจ)

(ข) ประโยชน์แก่ฝ่ายแฟรนไชส์ซอร์/ผู้ขายแฟรนไชส์

  • ได้รับค่าตอบแทน (เช่น ค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าสิทธิ) โดยไม่ต้องดำเนินธุรกิจหรือประกอบธุรกิจแฟรนไชส์นั้นโดยตรง
  • ลดต้นทุนและความเสี่ยงจากการขยายธุรกิจแฟรนไชส์ของตนโดยการโอนต้นทุนและความเสี่ยงไปยังแฟรนไชส์ซี
  • สามารถขยายธุรกิจและชื่อเสียงแฟรนไชส์ของตนได้อย่างรวดเร็ว

กฎหมายใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับสัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำสัญญาการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์มี ดังต่อไปนี้

ความช่วยเหลือจากทนายความ

คุณสามารถเลือกที่จะปรึกษาทนายความได้ในกรณีที่คุณต้องการความช่วยเหลือ

ทนายความสามารถช่วยคุณได้โดยทำการตอบคำถามของคุณหรือให้ความช่วยเหลือในกระบวนการต่าง ๆ จะมีการเสนอตัวเลือกดังกล่าวไว้ให้คุณในตอนท้ายของเอกสาร

แก้ไขแบบฟอร์มได้อย่างไร

คุณกรอกแบบสอบถามสำหรับป้อนข้อมูลแล้วจะเห็นได้ว่าระบบของเราจะค่อย ๆ สร้างเอกสารขึ้นเองโดยอัตโนมัติตามคำตอบที่คุณกรอกเข้าไป

ในตอนสุดท้าย คุณจะได้รับเอกสารในรูปแบบ Word และ PDF คุณสามารถแก้ไขและนำเอกสารไปใช้อีกได้

กรอกแบบฟอร์ม