สัญญาประนีประนอมยอมความ กรอกแบบฟอร์ม

ต้องทำยังไงบ้าง

1. เลือกแบบฟอร์มนี้

เริ่มต้นโดยการคลิกที่ "กรอกแบบฟอร์ม"

1 / เลือกแบบฟอร์มนี้

2. กรอกเอกสาร

ตอบคำถามบางข้อแล้วเอกสารของคุณก็จะถูกสร้างขึ้นเองโดยอัตโนมัติ

2 / กรอกเอกสาร

3. บันทึก - พิมพ์

เอกสารของคุณพร้อมแล้ว คุณจะได้รับเอกสารดังกล่าวในรูปแบบ Word และ PDF ซึ่งคุณสามารถทำการแก้ไขได้

3 / บันทึก - พิมพ์

ตัวเลือกพิเศษสำหรับการปรึกษาทนายความ

คุณสามารถเลือกที่จะขอรับความช่วยเหลือจากทนายความได้หลังจากกรอกเอกสารเสร็จแล้ว

ตัวเลือกพิเศษสำหรับการปรึกษาทนายความ

สัญญาประนีประนอมยอมความ

ปรับปรุงล่าสุด ปรับปรุงล่าสุด 16/07/2567
รูปแบบ รูปแบบWord และ PDF
ขนาด ขนาด7 ถึง 10 หน้า
กรอกแบบฟอร์ม

ปรับปรุงล่าสุดปรับปรุงล่าสุด 16/07/2567

รูปแบบรูปแบบที่มีให้ Word และ PDF

ขนาดขนาด 7 ถึง 10 หน้า

ตัวเลือก ความช่วยเหลือจากทนายความ

กรอกแบบฟอร์ม

สัญญาประนีประนอมยอมความคืออะไร

สัญญาประนีประนอมยอมความ หรือบันทึกข้อตกลงประนีประนอมยอมความ (Settlement Agreement) คือ สัญญาซึ่งมีคู่สัญญา 2 ฝ่าย (เช่น คู่พิพาท คู่ความ) อันได้แก่ ผู้รับสัญญา (เช่น ผู้เสียหาย โจทก์) และผู้ให้สัญญา (เช่น ผู้กระทำความเสียหาย ผู้กระทำความผิด จำเลย) ตกลงร่วมกันระงับข้อพิพาท/ข้อขัดแย้งระหว่างกันโดยการผ่อนผันให้แก่กัน ซึ่งส่งผลให้สิทธิเรียกร้องตามข้อพิพาทเดิมระงับสิ้นไปและเกิดเป็นสิทธิเรียกร้องใหม่ตามที่คู่สัญญาได้ตกลงผ่อนผันและประนอมให้แก่กันในสัญญาประนีประนอมยอมความ

สัญญาประนีประนอมยอมความมีลักษณะใดบ้าง

สัญญาประนีประนอมยอมความสามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

(ก) การประนีประนอมยอมความนอกศาล คือ การที่คู่สัญญา (เช่น คู่พิพาท) ตกลงกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันนอกกระบวนพิจารณาคดีของศาล (เช่น ก่อนการฟ้องข้อพิพาทเป็นคดีต่อศาล หรือหลังจากศาลมีคำพิพากษา) ในกรณีเช่นนี้

  • คู่สัญญาสามารถตกลงการระงับข้อพิพาทได้ ไม่ว่าข้อพิพาทนั้นจะเกิดขึ้นแล้ว ณ ขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หรือจะเป็นข้อพิพาทในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นก็ได้
  • หากคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ปฏิบัติผิดข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งต้องไปดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล เพื่อดำเนินการบังคับคดีตามข้อตกลงในสัญญาต่อไป

(ข) การประนีประนอมยอมความในศาล คือ การที่คู่สัญญา (เช่น โจทก์และจำเลย) ตกลงกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในระหว่างกระบวนพิจารณาคดีของศาล ซึ่งมีศาลรับรู้ถึงข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ (เช่น ตั้งแต่ศาลรับคำฟ้อง ไกล่เกลี่ย สืบพยาน หรือกระบวนการใดๆ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา) ในกรณีเช่นนี้

  • คู่สัญญาจะสามารถตกลงการระงับข้อพิพาทได้เฉพาะข้อพิพาทที่เกิดขึ้นแล้ว และที่เป็นประเด็นแห่งคดีที่ฟ้องเท่านั้น โดยหากคู่สัญญาสามารถตกลงกันได้จนเป็นที่พอใจแล้ว ศาลก็จะพิพากษาไปตามที่คู่สัญญาได้ตกลงกันนั้นตามสัญญาประนีประนอมยอมความ หรือที่เรียกว่า ศาลพิพากษาตามยอม
  • เมื่อคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (เช่น จำเลย) ได้ปฏิบัติผิดข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งสามารถร้องขอให้ศาลบังคับคดีตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความได้เลย โดยไม่ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่อีกรอบ
  • คู่ความ (เช่น โจทก์) อาจมีสิทธิได้รับค่าขึ้นศาล (เช่น ค่าธรรมเนียมศาล) คืนตามที่ศาลเห็นสมควร ทั้งนี้ ตามระเบียบว่าด้วยการคืนค่าขึ้นศาล

การประนีประนอมยอมความและการระงับข้อพิพาททางเลือกอื่นๆ แตกต่างกัน อย่างไร

การประนีประนอมยอมความเป็นหนึ่งในการระงับข้อพิพาททางเลือก (Alternative Dispute Resolution) ที่สะดวก รวดเร็ว และประหยัดทรัพยากร (เช่น เวลา ค่าใช้จ่าย และการดำเนินการ) ในขณะที่คู่สัญญาต่างก็ยังได้รับความเป็นธรรมและได้รับการชดเชยจนเป็นที่พอใจตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ตนเป็นผู้ตกลงยอมรับนั้นเอง

โดยการประนีประนอมยอมความและการระงับข้อพิพาทอื่นๆ มีความแตกต่างกัน ดังต่อไปนี้

  • การระงับข้อพิพาทโดยกระบวนทางทางศาลเป็นการระงับข้อพิพาทตามกระบวนการแบบทั่วไปซึ่งผู้พิพากษา/ศาลจะเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทดังกล่าว
  • การระงับข้อพิพาทโดยการไกล่เกลี่ยเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกหนึ่งที่คู่สัญญาเจรจาและตกลงกันระงับข้อพิพาทโดยมีผู้ไกล่เกลี่ยคนกลางมาร่วมในการไกล่เกลี่ยซึ่งมีหน้าที่เพียงช่วยอำนวยความสะดวกในการเจรจา ต่อรอง ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย เท่านั้น โดยที่ ผู้ไกล่เกลี่ยไม่มีอำนาจและ/หรือสิทธิใดๆ ในการชี้ขาดและ/หรือตัดสินข้อพิพาท ในกรณีเช่นนี้ ผู้ใช้งานอาจเลือกใช้บันทึกข้อตกลงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้ ตามลำดับ
  • การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกหนึ่งที่คู่สัญญาสามารถเลือกบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งอาจเป็นบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในข้อพิพาทนั้นๆ หรือบุคคลหรือคณะบุคคลที่คู่สัญญาให้ความยอมรับ เคารพ และนับถือ มาเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทดังกล่าว ในกรณีเช่นนี้ ผู้ใช้งานอาจเลือกใช้สัญญาอนุญาโตตุลาการ และคำชี้ขาด/คำสั่งอนุญาโตตุลาการ ตามลำดับ
  • การระงับข้อพิพาทโดยการประนีประนอมยอมความเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกหนึ่งที่คู่สัญญาเจรจาและตกลงระงับข้อพิพาทกันเองโดยไม่มีอนุญาโตตุลาการ หรือผู้ไกล่เกลี่ยคนกลางมาร่วมในการไกล่เกลี่ย ในกรณีเช่นนี้ ผู้ใช้งานอาจเลือกใช้สัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้ โดยไม่จำเป็นต้องจัดทำสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือบันทึกข้อตกลงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแต่อย่างใด และในกรณีที่คู่สัญญา (เช่น คู่พิพาท คู่ความ) ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดต้องการจะริเริ่มการเจรจาและ/หรือเสนอให้มีการประนีประนอมยอมความ ผู้ใช้งานอาจเลือกใช้หนังสือเสนอขอประนีประนอมยอมความ

จำเป็นต้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หรือไม่

จำเป็น เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้สัญญาประนีประนอมยอมความต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญจึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ คู่สัญญาจึงควรจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นลายลักษณ์อักษรและให้คู่สัญญาหรือตัวแทนผู้มีอำนาจของคู่สัญญาลงนามในสัญญาประนีประนอมยอมความให้เรียบร้อย

ข้อพิพาท/ข้อขัดแย้งระหว่างคู่สัญญาคืออะไร

ข้อพิพาท/ข้อขัดแย้งระหว่างคู่สัญญา (เช่น คู่พิพาท คู่ความ) ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ อาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ดังต่อไปนี้

  • ข้อพิพาททางแพ่ง คือ ข้อพิพาทที่เกิดจากการกระทำความผิดทางแพ่ง เช่น การปฏิบัติผิดสัญญา ไม่ยอมชำระหนี้ การผิดนัดชำระหนี้ การกระทำละเมิด กระทำการให้เกิดความเสียหายหรือบาดเจ็บ
  • ข้อพิพาททางอาญา คือ ข้อพิพาทที่เกิดจากการกระทำความผิดทางอาญาซึ่งมีโทษตามกฎหมาย เช่น การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ยักยอกทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์
  • ข้อพิพาททางแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา เช่น กระทำการให้เกิดความเสียหายหรือบาดเจ็บทางแพ่งซึ่งเป็นความผิดทางอาญาด้วย

ต้องระบุข้อมูลสำคัญใดบ้างลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ

คู่สัญญาควรระบุรายละเอียดและข้อความสำคัญในสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังต่อไปนี้

  • คู่สัญญา เช่น ชื่อ ที่อยู่ เพื่อการอ้างอิงที่ถูกต้อง
  • คดีความ กรณีประนีประนอมยอมความในศาล เช่น หมายเลขคดีดำ ข้อหาหรือฐานความผิดที่ฟ้อง วันที่ฟ้อง ศาลที่รับคำฟ้อง
  • ข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญา เช่น การกระทำผิดสัญญา การผิดนัดชำระหนี้ การทำละเมิด การกระทำความเสียหาย หรือการกระทำความผิดอาญาที่เป็นเหตุแห่งข้อพิพาท
  • ข้อตกลงที่คู่สัญญาได้ตกลงประนีประนอมกันเรียบร้อยแล้ว เช่น การดำเนินการแก้ไขเยียวยา การชำระเงินค่าเสียหาย จำนวนเงิน และกำหนดระยะเวลาการชำระเงิน การเยียวยาชดใช้ต่างๆ
  • ข้อตกลงอื่นๆ (ถ้ามี) เช่น หลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญา (เช่น ทรัพย์สิน หรือการค้ำประกัน) เงื่อนไขการยอมความ

ข้อสำคัญ: การเจรจาหรือข้อตกลงใดๆ ที่คู่สัญญาได้บรรลุในการประนีประนอมยอมความ คู่สัญญาควรนำมาระบุไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความให้เป็นลายลักษณ์อักษรทั้งสิ้น เพื่อมั่นใจว่าคู่สัญญาจะปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นและคู่สัญญาจะได้รับการชดใช้เยียวยาจนเป็นที่พอใจและครบถ้วน


ไม่ควรระบุ/กำหนดข้อมูลลักษณะใดลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ

ในการจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความ คู่สัญญาไม่สามารถตกลงกำหนดข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อความสมบูรณ์ของสัญญาประนีประนอมยอมความ

  • ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความที่มีวัตถุประสงค์หรือการชำระหนี้ที่ขัดต่อกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือพ้นวิสัยที่จะสามารถปฏิบัติได้ เช่น การตกลงยอมความข้อพิพาททางอาญาที่เกิดจากการกระทำความผิดต่อแผ่นดิน (เช่น ทำร้ายร่างกาย ลักทรัพย์ ฉ้อโกงประชาชน) ซึ่งเป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความกันได้
  • ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ไม่สอดคล้องกับเจตนาที่อิสระของคู่สัญญา เช่น ข้อตกลงที่เกิดจากการถูกบังคับข่มขู่ ถูกหลอกลวงให้เข้าใจผิด

ข้อสำคัญ: ข้อพิพาททางอาญาที่เกิดจากการกระทำความผิดต่อแผ่นดิน (เช่น ทำร้ายร่างกาย ลักทรัพย์ ฉ้อโกงประชาชน) เป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความกันได้ แม้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ก็ไม่ทำให้ความผิดอาญาดังกล่าวระงับไป เนื่องจากถือว่าเป็นข้อตกลงที่ขัดต่อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย เจ้าพนักงานมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป แต่ความรับผิดทางแพ่งที่เกิดจากการกระทำความผิดดังกล่าว (เช่น การชดใช้ค่าเสียหาย) ย่อมสามารถตกลงประนีประนอมยอมความกันได้


จำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างไรก่อนทำสัญญาประนีประนอมยอมความ

เมื่อเกิดข้อพิพาท/ข้อขัดแย้งระหว่างคู่สัญญา คู่สัญญาไม่จำเป็นจะต้องดำเนินการใดๆ ก่อนตามกฎหมายในการจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความ

อย่างไรก็ดี ก่อนการจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความ คู่สัญญาควรเจรจา ตกลง และตรวจสอบให้มั่นใจว่าสิทธิเรียกร้องและความรับผิดใหม่ตามที่คู่สัญญาจะตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเป็นที่พอใจและครอบคลุมความเสียหายใดๆ อย่างครบถ้วนแล้ว เนื่องจากเมื่อคู่สัญญาเข้าทำสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องและความรับผิดเดิมที่เป็นเหตุแห่งข้อพิพาท (เช่น หนี้ ความผิด) ระงับสิ้นสุดลงและก่อสิทธิเรียกร้องและความรับผิดใหม่ตามที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ คู่สัญญาจะไม่สามารถกลับไปอ้างสิทธิเรียกร้องและความรับผิดเดิมที่ระงับไปแล้ว

สัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวข้องกับใครบ้าง

บุคคล/คู่สัญญา (เช่น คู่พิพาท คู่ความ) ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ได้แก่

  • ผู้รับสัญญา (เช่น ผู้เสียหาย โจทก์) ตัวแทนผู้มีอำนาจของผู้รับสัญญา (เช่น กรรมการ หุ้นส่วนผู้จัดการ) หรือตัวแทนที่ผู้รับสัญญามอบหมายให้รับผิดชอบเกี่ยวกับการประนีประนอมยอมความ (เช่น ผู้จัดการ/ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย ทนายความ) ซึ่งเป็นผู้ลงนามในสัญญาประนีประนอมยอมความและผูกพันคู่สัญญาในฐานะผู้รับสัญญา
  • ผู้ให้สัญญา (เช่น ผู้กระทำความเสียหาย ผู้กระทำความผิด จำเลย) ตัวแทนผู้มีอำนาจของผู้ให้สัญญา (เช่น กรรมการ หุ้นส่วนผู้จัดการ) หรือตัวแทนที่ผู้ให้สัญญามอบหมายให้รับผิดชอบเกี่ยวกับการประนีประนอมยอมความ (เช่น ผู้จัดการ/ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย ทนายความ) ซึ่งเป็นผู้ลงนามในสัญญาประนีประนอมยอมความและผูกพันคู่สัญญาในฐานะผู้ให้สัญญา

ในกรณีการประนีประนอมยอมความในศาล การแต่งตั้งทนายหรือมอบอำนาจให้ทนายความดำเนินการเจรจาและตกลงประนีประนอมยอมความแทนคู่ความนั้น คู่ความจะต้องระบุไว้ในหนังสือแต่งตั้งทนายหรือหนังสือมอบอำนาจไว้อย่างชัดแจ้งว่าทนายความมีอำนาจประนีประนอมยอมความแทนคู่ความได้ เนื่องจากการประนีประนอมยอมความถือเป็นกระบวนพิจารณาไปในทางจำหน่ายสิทธิของคู่ความ


บุคคลใดไม่สามารถลงนามและ/หรือเข้าทำสัญญาประนีประนอมยอมความ

คู่สัญญา (เช่น คู่พิพาท คู่ความ) ที่จะลงนามเข้าทำสัญญาประนีประนอมยอมความจะต้องเป็นบุคคลผู้มีความสามารถในการทำนิติกรรมอย่างสมบูรณ์ (เช่น ผู้บรรลุนิติภาวะ อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ ไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ) และ/หรือเป็นตัวแทนผู้มีอำนาจกระทำการของคู่สัญญา เท่านั้น

จะต้องทำอย่างไรต่อหลังจากที่ลงนามในสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว

คู่สัญญาจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นลายลักษณ์อักษรและให้คู่สัญญาหรือตัวแทนผู้มีอำนาจของคู่สัญญา รวมถึงพยาน (ถ้ามี) ลงนามในสัญญาดังกล่าวให้เรียบร้อย ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้สัญญาประนีประนอมยอมความต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญจึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้

เมื่อจัดทำและลงนามในสัญญาประนีประนอมยอมความเรียบร้อยแล้ว คู่สัญญาอาจพิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้

  • คู่สัญญาอาจพิจารณาแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสัญญาประนีประนอมยอมความ (ถ้ามี)
  • ในกรณีการประนีประนอมยอมความนอกศาล

คู่สัญญาอาจจัดทำคู่ฉบับของสัญญาประนีประนอมยอมความอย่างน้อย 2 ฉบับ เพื่อให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายเก็บไว้อ้างอิงเป็นหลักฐานได้ฝ่ายละ 1 ฉบับ

คู่สัญญาแต่ละฝ่ายควรขอเอกสารแสดงตัวตนของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งที่ลงนามรับรองสำเนาถูกต้องมาเก็บไว้ประกอบสัญญาฉบับที่ตนเองถือไว้ด้วย เช่น บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือเดินทาง หนังสือรับรองและบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล (กรณีนิติบุคคล) รวมถึง หนังสือมอบอำนาจ ในกรณีที่มีการมอบอำนาจ

  • ในกรณีการประนีประนอมยอมความในศาล คู่ความจะต้องแจ้งต่อศาลที่พิจารณาคดีเพื่อให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาตามกฎหมายต่อไป (เช่น การช่วยไกล่เกลี่ย ตรวจสอบข้อตกลง และการพิพากษาไปตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ)

ข้อสำคัญ: สัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องและความรับผิดเดิมที่เป็นเหตุแห่งข้อพิพาท (เช่น หนี้ ความผิด) ระงับสิ้นสุดลงและก่อสิทธิเรียกร้องและความรับผิดใหม่ตามที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความ


จะต้องแนบหลักฐานหรือเอกสารประกอบสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย หรือไม่

คู่สัญญาอาจพิจารณาแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสัญญาประนีประนอมยอมความ (ถ้ามี) เพื่อความชัดเจนและความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันระหว่างคู่สัญญา เช่น

  • รายละเอียดการชดเชยความเสียหาย
  • ตารางกำหนดระยะเวลาการชำระค่าเสียหาย

สัญญาประนีประนอมยอมความจำเป็นจะต้องจดทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือไม่

ไม่จำเป็น คู่สัญญาไม่จำเป็นจะต้องดำเนินการจดทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องใดๆ ในการจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความ

อย่างไรก็ดี ในกรณีการประนีประนอมยอมความในศาล คู่ความย่อมต้องแจ้งการจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาลที่พิจารณาคดีเพื่อให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาตามกฎหมายต่อไป (เช่น การช่วยไกล่เกลี่ย ตรวจสอบข้อตกลง และการพิพากษาไปตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ)

สัญญาประนีประนอมยอมความจำเป็นจะต้องมีพยานลงนามด้วย หรือไม่

ไม่จำเป็น กฎหมายไม่ได้กำหนดให้สัญญาประนีประนอมยอมความจำเป็นจะต้องมีพยานลงนามด้วย

อย่างไรก็ดี คู่สัญญาอาจพิจารณาจัดให้มีพยานลงนามในสัญญาประนีประนอมยอมความตามที่เห็นสมควรด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ พยานควรเป็นบุคคลผู้มีความสามารถในการทำนิติกรรมอย่างสมบูรณ์ (เช่น ผู้บรรลุนิติภาวะ อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ ไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ) และไม่ใช่บุคคลที่มีหน้าที่/ภาระผูกพันตามสัญญาประนีประนอมยอมความ (เช่น คู่สัญญา)

เมื่อจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วจะต้องยึดอายุความจากข้อพิพาทใด

เมื่อจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว คู่สัญญาจะต้องยึดอายุความตามสิทธิเรียกร้องใหม่ที่เกิดขึ้นตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งมีกำหนดอายุความ 10 ปี ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องเดิมจะมีกำหนดอายุความเท่าใด โดยอายุความตามสิทธิเรียกร้องเดิมย่อมสะดุดหยุดลง

กฎหมายใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับสัญญาประนีประนอมยอมความ

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความมี ดังต่อไปนี้


ความช่วยเหลือจากทนายความ

คุณสามารถเลือกที่จะปรึกษาทนายความได้ในกรณีที่คุณต้องการความช่วยเหลือ

ทนายความสามารถช่วยคุณได้โดยทำการตอบคำถามของคุณหรือให้ความช่วยเหลือในกระบวนการต่าง ๆ จะมีการเสนอตัวเลือกดังกล่าวไว้ให้คุณในตอนท้ายของเอกสาร


แก้ไขแบบฟอร์มได้อย่างไร

คุณกรอกแบบสอบถามสำหรับป้อนข้อมูลแล้วจะเห็นได้ว่าระบบของเราจะค่อย ๆ สร้างเอกสารขึ้นเองโดยอัตโนมัติตามคำตอบที่คุณกรอกเข้าไป

ในตอนสุดท้าย คุณจะได้รับเอกสารในรูปแบบ Word และ PDF คุณสามารถแก้ไขและนำเอกสารไปใช้อีกได้

กรอกแบบฟอร์ม