สัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็ก กรอกแบบฟอร์ม

ต้องทำยังไงบ้าง

1. เลือกแบบฟอร์มนี้

เริ่มต้นโดยการคลิกที่ "กรอกแบบฟอร์ม"

1 / เลือกแบบฟอร์มนี้

2. กรอกเอกสาร

ตอบคำถามบางข้อแล้วเอกสารของคุณก็จะถูกสร้างขึ้นเองโดยอัตโนมัติ

2 / กรอกเอกสาร

3. บันทึก - พิมพ์

เอกสารของคุณพร้อมแล้ว คุณจะได้รับเอกสารดังกล่าวในรูปแบบ Word และ PDF ซึ่งคุณสามารถทำการแก้ไขได้

3 / บันทึก - พิมพ์

ตัวเลือกพิเศษสำหรับการปรึกษาทนายความ

คุณสามารถเลือกที่จะขอรับความช่วยเหลือจากทนายความได้หลังจากกรอกเอกสารเสร็จแล้ว

ตัวเลือกพิเศษสำหรับการปรึกษาทนายความ

สัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็ก

ปรับปรุงล่าสุด ปรับปรุงล่าสุด 06/04/2567
รูปแบบ รูปแบบWord และ PDF
ขนาด ขนาด21 ถึง 32 หน้า
กรอกแบบฟอร์ม

ปรับปรุงล่าสุดปรับปรุงล่าสุด 06/04/2567

รูปแบบรูปแบบที่มีให้ Word และ PDF

ขนาดขนาด 21 ถึง 32 หน้า

ตัวเลือก ความช่วยเหลือจากทนายความ

กรอกแบบฟอร์ม

สัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กคืออะไร

สัญญาให้บริการรับเลี้ยงเด็ก (Child Care Agreement) หรือสัญญาให้บริการดูแลเด็ก คือ สัญญาที่มีคู่สัญญา 2 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง (เช่น ผู้ให้บริการดูแลเด็ก สถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน ผู้รับจ้างเลี้ยงเด็ก) โดยผู้ว่าจ้างตกลงว่าจ้างให้ผู้รับจ้างดำเนินการดูแลและเลี้ยงดูเด็กซึ่งเป็นบุตรหรือผู้เยาว์ที่อยู่ในความปกครองของผู้ว่าจ้างตามขอบเขตที่กำหนดไว้ในสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กฉบับนี้

ทั้งนี้ เนื่องจากในปัจจุบัน ด้วยความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ทำให้ผู้มีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูเด็กอาจไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ (เช่น ต้องออกไปทำงานนอกบ้านทั้งวันโดยไม่มีผู้ดูแล) การที่ปล่อยเด็ก ไว้เพียงลำพังอาจก่อให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิต หรืออาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ตัวเด็กได้ การใช้บริการเลี้ยงดูเด็กจึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเลี้ยงดูเด็ก

สัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กมีลักษณะใดบ้าง

สัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กฉบับนี้อาจแบ่งตามลักษณะการให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กได้ ดังต่อไปนี้

  • สัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กระหว่างวันซึ่งให้บริการสถานรับเลี้ยงเด็กระหว่างวัน เช่น ผู้รับจ้างเป็นสถานที่ให้บริการรับเลี้ยงเด็ก และรับเลี้ยงเด็กระหว่างวัน โดยที่ ผู้ว่าจ้างจะมารับและส่งเด็กที่สถานรับเลี้ยงเด็กแต่ละวัน โดยไม่มีการพักอาศัยอยู่ประจำของเด็ก ณ สถานรับเลี้ยงเด็ก
  • สัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กประจำซึ่งให้บริการสถานรับเลี้ยงเด็กประจำ เช่น ผู้รับจ้างเป็นสถานที่ให้บริการรับเลี้ยงเด็ก รวมถึงให้บริการสถานที่พำนักอาศัยแก่เด็ก โดยที่เด็กจะพักอาศัยประจำอยู่ ณ สถานรับเลี้ยงเด็กตามระยะเวลาของสัญญา
  • สัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กที่บ้านซึ่งให้บริการรับเลี้ยงเด็กที่บ้าน เช่น ผู้รับจ้างหรือตัวแทนมาให้บริการเลี้ยงเด็กที่บ้านที่หรือสถานที่ของผู้ว่าจ้าง ไม่ว่ากรณีผู้เลี้ยงดูเด็กมาพักอาศัยอยู่ประจำที่บ้านของผู้ว่าจ้าง หรือกรณีผู้เลี้ยงดูเด็กเดินทางไป-กลับ ก็ตาม

สัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กและสัญญาบริการอื่นๆ แตกต่างกัน อย่างไร

สัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กและสัญญาบริการอื่นๆ ต่างก็เป็นสัญญาที่ผู้รับจ้างจัดให้มีการให้บริการต่างๆ แก่ผู้ว่าจ้างเหมือนกัน

อย่างไรก็ดี สัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กและสัญญาบริการอื่นๆ มีความแตกต่างกัน โดยที่

  • สัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กฉบับนี้ถูกร่างขึ้นโดยมีข้อความและข้อสัญญาสำหรับการให้บริการรับเลี้ยงเด็กโดยเฉพาะ
  • สัญญาให้บริการดูแลผู้สูงอายุ/ผู้มีภาวะพึ่งพิงถูกร่างขึ้นโดยมีข้อความและข้อสัญญาสำหรับการให้บริการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยโดยเฉพาะ
  • สัญญาบริการถูกร่างขึ้นโดยมีข้อความและข้อสัญญาสำหรับการให้บริการทั่วไป (เช่น การว่าจ้างทำงานหรือให้บริการอย่างอื่น)

สัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กและสัญญาจ้างแรงงานแตกต่างกัน อย่างไร

สัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กฉบับนี้ถูกร่างขึ้นบนพื้นฐานของกฎหมายจ้างทำของหรือสัญญาให้บริการ อย่างไรก็ดี ในบางลักษณะของการให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กอาจมีความคล้ายคลึงกับการจ้างแรงงานตามสัญญาจ้างแรงงานเป็นอย่างมาก (เช่น การจ้างพี่เลี้ยง/แม่บ้านเลี้ยงเด็ก) ซึ่งหากเป็นการจ้างแรงงานแล้ว สิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญา รวมถึงข้อจำกัดต่างๆ ก็จะแตกต่างไปเนื่องจากอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานโดยเฉพาะ คู่สัญญาอาจพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างได้จากข้อพิจารณา ดังต่อไปนี้

  • การมุ่งเน้นผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ การจ้างทำของจะมีความมุ่งหวังที่ผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ เช่น ผู้รับจ้างจะมีอิสระในการดำเนินงานที่จ้างให้สำเร็จลุล่วงตามลักษณะ แบบ คุณสมบัติ และมาตรฐานที่ผู้ว่าจ้างกำหนด
  • อำนาจบังคับบัญชาของนายจ้าง ในการจ้างแรงงานนายจ้างจะมีอำนาจการบังคับบัญชาเด็ดขาดเหนือลูกจ้าง เช่น การมอบหมายงานอย่างอื่นให้ลูกจ้าง เปลี่ยนแปลงขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของลูกจ้างได้ มีอำนาจตักเตือนลงโทษทางวินัย การกำหนดให้ลูกจ้างเข้าทำงานตามวันเวลาที่นายจ้างกำหนด
  • ประเภทบุคคลของลูกจ้าง ในการจ้างแรงงาน ลูกจ้างจะต้องเป็นบุคคลธรรมดา เท่านั้น ในขณะที่ในการจ้างทำของผู้รับจ้างอาจเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล (เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน) ก็ได้

ผู้ใช้งานสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คู่มือทางกฎหมาย: ความแตกต่างระหว่างสัญญาจ้างแรงงานและสัญญาจ้างทำของ


จำเป็นต้องทำสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็ก หรือไม่

ไม่จำเป็น กฎหมายไม่ได้กำหนดให้คู่สัญญาต้องจัดทำสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กเป็นลายลักษณ์อักษร

อย่างไรก็ดี ในการให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กย่อมมีรายละเอียดและข้อตกลงสำคัญที่คู่สัญญาอาจจำเป็นต้องกำหนดและตกลงร่วมกัน (เช่น ขอบเขตของบริการรับเลี้ยงเด็ก ระยะเวลาการให้บริการ อัตราค่าบริการ หน้าที่/ความรับผิดชอบของคู่สัญญา) เพื่อรักษาผลประโยชน์และความเข้าใจที่ตรงกันของคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย คู่สัญญาจึงควรจัดทำสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กเป็นลายลักษณ์อักษร และลงนามโดยคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่าย

ต้องระบุข้อมูลสำคัญใดบ้างลงในสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็ก

คู่สัญญาควรระบุรายละเอียดและข้อความสำคัญในสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็ก ดังต่อไปนี้

  • คู่สัญญา เช่น ชื่อ ที่อยู่ เพื่อการอ้างอิงที่ถูกต้อง
  • ข้อมูลของเด็ก เช่น ชื่อ ข้อมูล และจำนวนเด็กที่ผู้รับจ้างจะต้องให้บริการรับเลี้ยง รวมถึง ข้อมูลทางการแพทย์ หรือข้อควรระวังในการเลี้ยงเด็กคนดังกล่าว
  • ขอบเขตของบริการรับเลี้ยงเด็ก เช่น หน้าที่ความรับผิดชอบของผู้รับจ้าง จำนวนและคุณสมบัติของบุคลากรที่ผู้รับจ้างต้องจัดให้มี (เช่น ผู้เลี้ยงดูเด็ก)
  • สถานที่ผู้รับจ้างจะต้องให้บริการ เช่น สถานที่ตั้งของสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือบ้านของผู้ว่าจ้าง แล้วแต่กรณี
  • ระยะเวลาสัญญา เช่น วันที่เริ่มต้นและสิ้นสุดสัญญา การบอกเลิกและสิ้นสุดสัญญาก่อนกำหนด
  • ค่าบริการเลี้ยงดูเด็ก เช่น รูปแบบและอัตราการคิดค่าบริการ เงินมัดจำ การเปลี่ยนแปลงค่าบริการ รวมถึงกำหนดการชำระเงิน
  • ข้อตกลงอื่นๆ (ถ้ามี) เช่น การจัดทำบันทึกและรายงานข้อมูลประจำตัวเด็ก

จำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างไรก่อนทำสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็ก

คู่สัญญาไม่จำเป็นจะต้องดำเนินการใดๆ ก่อนตามกฎหมายในการจัดทำสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็ก

อย่างไรก็ดี ก่อนการจัดทำสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็ก คู่สัญญาอาจมีข้อพิจารณา ดังต่อไปนี้

  • ผู้ว่าจ้างควรตรวจสอบให้มั่นใจว่าผู้รับจ้างมีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการดูแล/รับเลี้ยงเด็ก (เช่น ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ จรรยาบรรณ มาตรฐาน และความชำนาญในการเลี้ยงดูเด็ก สุขอนามัย วุฒิการศึกษา การฝึกอบรม ประวัติการทำงาน ประวัติการศึกษา ประวัติอาชญากรรม)
  • ในกรณีการให้บริการเลี้ยงดูเด็ก ณ สถานรับเลี้ยงเด็ก (เช่น บริการสถานรับเลี้ยงเด็กระหว่างวัน หรือบริการสถานรับเลี้ยงเด็กประจำ) ผู้รับจ้างจะต้องได้รับใบอนุญาตให้ตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กตามกฎหมาย นายจ้างจึงควรตรวจสอบให้มั่นใจว่าผู้รับจ้างได้ดำเนินการจดทะเบียนและขอรับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

สัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กเกี่ยวข้องกับใครบ้าง

บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็ก ได้แก่

  • ผู้ว่าจ้าง (เช่น บิดา มารดา ผู้ปกครองของเด็ก) หรือตัวแทนที่ผู้ว่าจ้างมอบหมายให้รับผิดชอบเกี่ยวกับการดูแล/เลี้ยงเด็ก (เช่น ญาติสนิท) ซึ่งเป็นผู้ลงนามในสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กและผูกพันคู่สัญญาในฐานะผู้ว่าจ้าง
  • ผู้รับจ้าง (เช่น ผู้ให้บริการดูแลเด็ก สถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน ผู้รับจ้างเลี้ยงเด็ก) ตัวแทนผู้มีอำนาจของผู้รับจ้าง (เช่น กรรมการ หุ้นส่วนผู้จัดการ) หรือตัวแทนที่ผู้รับจ้างมอบหมายให้รับผิดชอบเกี่ยวกับการบริการดูแล/รับเลี้ยงเด็ก (เช่น ผู้จัดการ/ผู้อำนวยการสถานรับเลี้ยงเด็ก) ซึ่งเป็นผู้ลงนามในสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กและผูกพันคู่สัญญาในฐานะผู้รับจ้าง

บุคคลใดไม่สามารถลงนามและ/หรือเข้าทำสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็ก

ในกรณีการให้บริการเลี้ยงดูเด็ก ณ สถานรับเลี้ยงเด็ก (เช่น บริการสถานรับเลี้ยงเด็กระหว่างวัน หรือบริการสถานรับเลี้ยงเด็กประจำ) ผู้รับจ้างจะต้องได้รับใบอนุญาตให้ตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กตามกฎหมายด้วย ในกรณีเช่นนี้ ผู้รับจ้างจึงจำเป็นจะต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายให้ดำเนินกิจการสถานรับเลี้ยงเด็ก

จะต้องทำอย่างไรต่อหลังจากที่ลงนามในสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กแล้ว

คู่สัญญาควรจัดทำสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กเป็นลายลักษณ์อักษร และให้คู่สัญญาหรือตัวแทนผู้มีอำนาจของคู่สัญญา รวมถึงพยานด้วย (ถ้ามี) ลงนามในสัญญาฉบับดังกล่าวให้เรียบร้อย

เมื่อจัดทำและลงนามในสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กเรียบร้อยแล้ว คู่สัญญาอาจพิจารณาดำเนินการ ดังต่อไปนี้

  • คู่สัญญาอาจจัดทำคู่ฉบับของสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กอย่างน้อย 2 ฉบับ เพื่อให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายเก็บไว้ใช้อ้างอิงเป็นหลักฐานได้ฝ่ายละอย่างน้อย 1 ฉบับ
  • คู่สัญญาแต่ละฝ่ายควรขอเอกสารแสดงตัวตนของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งที่ลงนามรับรองสำเนาถูกต้องมาเก็บไว้ประกอบสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กฉบับที่ตนเองถือไว้ด้วย เช่น บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือเดินทาง หนังสือรับรองและบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล (กรณีนิติบุคคล) รวมถึง หนังสือมอบอำนาจ ในกรณีที่มีการมอบอำนาจ
  • คู่สัญญาอาจพิจารณาแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็ก (ถ้ามี)
  • คู่สัญญานำสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กที่ลงนามเรียบร้อยแล้วไปชำระอากรแสตมป์ตามอัตรา ระยะเวลา และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กและคู่ฉบับเป็นสัญญาจ้างทำของที่กฎหมายกำหนดให้ต้องชำระอากรแสตมป์

จะต้องแนบหลักฐานหรือเอกสารประกอบสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กด้วย หรือไม่

คู่สัญญาอาจพิจารณาแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็ก (ถ้ามี) เพื่อความชัดเจนและความเข้าใจที่ตรงกันของคู่สัญญา เช่น

  • เอกสารเกี่ยวกับผู้รับจ้าง (เช่น ใบอนุญาตให้ตั้งสถานรับเลี้ยงเด็ก ประวัติผู้เลี้ยงดูเด็ก)
  • ขอบเขตการให้บริการ (เช่น ขั้นตอนการให้บริการ รายชื่อบุคลากร วันและเวลาให้บริการ)
  • เอกสารเกี่ยวกับค่าบริการ (เช่น ตารางอัตราและกำหนดการชำระค่าบริการ ใบเสนอราคา)
  • เอกสารเกี่ยวกับมาตรฐานการให้บริการ (เช่น คู่มือการปฏิบัติงาน ข้อกำหนดการควบคุมคุณภาพ ดัชนีชี้วัดการให้บริการ)

สัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กจำเป็นจะต้องจดทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือไม่

ไม่จำเป็น คู่สัญญาไม่จำเป็นจะต้องดำเนินการจดทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องใดๆ ในการจัดทำสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็ก

สัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กจำเป็นจะต้องมีพยานลงนามด้วย หรือไม่

ไม่จำเป็น กฎหมายไม่ได้กำหนดให้สัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กจำเป็นจะต้องมีพยานลงนามด้วย

อย่างไรก็ดี คู่สัญญาอาจพิจารณาจัดให้มีพยานลงนามในสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กตามที่เห็นสมควรด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ พยานควรเป็นบุคคลผู้มีความสามารถในการทำนิติกรรมอย่างสมบูรณ์ (เช่น ผู้บรรลุนิติภาวะ อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ ไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ) และไม่ใช่บุคคลที่มีหน้าที่/ภาระผูกพันตามสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็ก (เช่น คู่สัญญา)

มีค่าใช้จ่ายใดบ้างที่เกี่ยวข้องในการจัดทำสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็ก

คู่สัญญาอาจมีค่าใช้จ่ายที่ต้องพิจารณาจัดเตรียมในการจัดทำสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็ก ดังต่อไปนี้

  • อากรแสตมป์ เนื่องจากสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กและคู่ฉบับเป็นสัญญาจ้างทำของที่กฎหมายกำหนดให้ต้องชำระอากรแสตมป์ คู่สัญญาจึงมีหน้าที่นำสัญญาที่ลงนามเรียบร้อยแล้วไปชำระอากรแสตมป์ตามอัตรา ระยะเวลา และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ในกรณีที่ไม่ชำระอากร ศาลจะไม่รับฟังสัญญาที่ไม่ได้ชำระอากรโดยสมบูรณ์เป็นพยานหลักฐาน อีกทั้ง ยังมีค่าปรับการไม่ชำระอากรแสตมป์ และอาจมีโทษทางอาญาอีกด้วย
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) ผู้ให้บริการ/ผู้รับจ้างอาจมีหน้าที่ต้องยื่นแบบและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือนให้แก่กรมสรรพากรตามอัตราที่กฎหมายกำหนด เว้นแต่ ในกรณีที่ผู้ให้บริการ/ผู้รับจ้างได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (เช่น ผู้ให้บริการเป็นกิจการขนาดย่อมที่มีฐานภาษีไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี บริการที่อยู่ภายใต้ภาษีธุรกิจเฉพาะ บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาล บริการการศึกษาของสถานศึกษา บริการการประกอบโรคศิลปะ การสอบบัญชี การว่าความ การให้บริการห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ สวนสัตว์)

ผู้ว่าจ้างจำเป็นต้องให้ผู้รับจ้างทำสัญญาเก็บรักษาความลับด้วย หรือไม่

เนื่องจากในการให้บริการเลี้ยงดูเด็กตามสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กฉบับนี้ ผู้รับจ้างหรือพนักงานของผู้รับจ้างอาจได้ล่วงรู้ หรือได้รับข้อมูลภายในของผู้ว่าจ้างหรือของเด็ก สัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กฉบับนี้จึงประกอบด้วยข้อตกลงการเก็บรักษาความลับซึ่งห้ามผู้รับจ้างหรือพนักงานของผู้รับจ้างเปิดเผยข้อมูลความลับของผู้ว่าจ้างและเด็กโดยทั่วไปอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ผู้ว่าจ้างให้ความสำคัญกับการเก็บรักษาความลับอย่างยิ่ง คู่สัญญาอาจพิจารณาจัดทำสัญญาเก็บรักษาความลับแยกต่างหากอีกฉบับเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ รายละเอียด และบทลงโทษเกี่ยวกับการเก็บรักษาความลับโดยเฉพาะด้วยก็ได้

กฎหมายใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็ก

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำสัญญาให้บริการดูแล/รับเลี้ยงเด็กมี ดังต่อไปนี้


ความช่วยเหลือจากทนายความ

คุณสามารถเลือกที่จะปรึกษาทนายความได้ในกรณีที่คุณต้องการความช่วยเหลือ

ทนายความสามารถช่วยคุณได้โดยทำการตอบคำถามของคุณหรือให้ความช่วยเหลือในกระบวนการต่าง ๆ จะมีการเสนอตัวเลือกดังกล่าวไว้ให้คุณในตอนท้ายของเอกสาร


แก้ไขแบบฟอร์มได้อย่างไร

คุณกรอกแบบสอบถามสำหรับป้อนข้อมูลแล้วจะเห็นได้ว่าระบบของเราจะค่อย ๆ สร้างเอกสารขึ้นเองโดยอัตโนมัติตามคำตอบที่คุณกรอกเข้าไป

ในตอนสุดท้าย คุณจะได้รับเอกสารในรูปแบบ Word และ PDF คุณสามารถแก้ไขและนำเอกสารไปใช้อีกได้

กรอกแบบฟอร์ม