ข้อจำกัดในการให้เช่าสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย

ปรับปรุงล่าสุด ปรับปรุงล่าสุด18 มกราคม 2021
คะแนน คะแนน 5 - 3 คะแนนโหวต

การเช่าสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย คือ การเช่าสิ่งปลูกสร้าง (เช่น ห้องพัก บ้าน อาคารชุด อพาร์ตเม้นท์ หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ) ที่ผู้เช่ามีวัตถุประสงค์ในการนำสิ่งปลูกสร้างนั้นมาใช้ประโยชน์ในการอยู่อาศัย (เช่น การพักอาศัย ดำรงชีวิตทั่วไป) ตาม สัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย หรือ สัญญาเช่าช่วง ซึ่งแตกต่างจากการเช่าสิ่งปลูกสร้างเพื่อการพาณิชย์ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการนำสิ่งปลูกสร้างมาใช้ประโยชน์ในการประกอบธุรกิจการค้าต่างๆ (เช่น ร้านค้า อาคารสำนักงาน)

ผู้ใช้งานอาจศึกษาความแตกต่างระหว่างสัญญาเช่าเพื่อการพาณิชย์และสัญญาเช่าเพื่อการอยู่อาศัยเพิ่มเติมได้ที่ คู่มือทางกฎหมาย: สัญญาเช่าเพื่อการพาณิชย์และสัญญาเช่าเพื่อการอยู่อาศัย มีข้อแตกต่างกันอย่างไร

เนื่องด้วย ที่อยู่อาศัยถือเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของบุคคล ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับข้อร้องเรียนจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับการเอาเปรียบผู้เช่าสำหรับการเช่าสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย ทำให้คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ได้ประกาศให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ในปี พ.ศ. 2561 ตาม ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 และประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2562 ซึ่งบังคับใช้ตามลำดับ ส่งผลให้มีข้อจำกัดต่างๆ เกี่ยวกับการเช่าและให้เช่าสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัยที่ผู้ให้เช่าและผู้เช่าควรพิจารณา ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองผู้เช่าสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัยจากการเอาเปรียบของผู้ประกอบการธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยต่างๆ เช่น การเรียกเก็บเงินประกันความเสียหายและเงินค่าเช่าล่วงหน้าที่สูงเกิน เงื่อนไขและข้อกำหนดต่างๆ ในสัญญาเช่าที่ไม่เป็นธรรมกับผู้เช่า

โดยที่ ผู้ให้เช่า หรือผู้เช่าสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย อาจมีข้อพิจารณา ดังต่อไปนี้

(1) ลักษณะของการเช่าสิ่งปลูกสร้างจากผู้ประกอบธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัย

ลักษณะของการเช่าสิ่งปลูกสร้างจากผู้ประกอบธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัย ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา จะมีข้อจำกัดต่างๆ เพิ่มเติมจากกฎหมายการเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้น จะต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

  • เป็นการเช่าที่มีวัตถุประสงค์เพื่ออยู่อาศัย เช่น ผู้เช่าต้องชำระค่าเช่า และผู้เช้าใช้สิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเพื่ออยู่อาศัย ไม่ว่าสิ่งปลูกสร้างนั้นจะมีลักษณะเป็นห้องพัก บ้าน อาคารชุด อพาร์ตเม้นท์ หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่ใช้พักอาศัย ทั้งนี้ ไม่รวมถึงหอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก และโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
  • ผู้ให้เช่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัย กล่าวคือ มีสถานที่จัดแบ่งให้เช่าเพื่ออยู่อาศัยตั้งแต่ 5 หน่วยขึ้นไป
  • ผู้เช่าหรือผู้เช่าช่วงที่เช่าสิ่งปลูกสร้างนั้นเป็นบุคคลธรรมดา

โดยหากการเช่าสิ่งปลูกสร้างเป็นไปตามลักษณะที่กล่าวข้างต้น การเช่าสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจะตกอยู่ภายใต้ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ซึ่งกำหนดข้อจำกัด และความสัมพันธ์ (เช่น สิทธิและหน้าที่) ระหว่างผู้ให้เช่าและผู้เช่าเพิ่มเติมจากกฎหมายการเช่าทั่วไป ดังจะได้อธิบายต่อไปในคู่มือทางกฎหมายฉบับนี้

การเช่าสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัยที่ไม่มีลักษณะครบตามที่กำหนดข้างต้น หรือการเช่าสิ่งปลูกสร้างเพื่อการพาณิชย์ ในกรณีเช่นนี้จะไม่ตกอยู่ภายใต้ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา จึงไม่ถูกจำกัดด้วยข้อจำกัดที่กำหนดไว้ในประกาศดังกล่าว อย่างไรก็ดี อาจมีข้อจำกัดอื่นตามกฎหมายการเช่าทั่วไปหรือกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการเช่านั้นๆ โดยเฉพาะ (ถ้ามี)

(2) ข้อกำกัดในการเช่าสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย

ข้อกำกัดเกี่ยวกับการเช่าสิ่งปลูกสร้างจากผู้ประกอบธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัย ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา อาจแบ่งพิจารณาได้ ดังต่อไปนี้

(ก) ข้อจำกัดด้านเนื้อหา

ข้อจำกัดด้านเนื้อหาที่ผู้ให้เช่าและผู้เช่าควรพิจารณา เช่น เงื่อนไข ข้อกำหนดการเช่าสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย โดย ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ได้กำหนดให้ผู้ให้เช่าและผู้เช่า มีสิทธิและ/หรือหน้าที่ ดังต่อไปนี้

  • ผู้ให้เช่าไม่สามารถเรียกเก็บค่าเช่าล่วงหน้าและเงินประกันเมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนเกินกว่า 3 เดือนของอัตราค่าเช่ารายเดือน
  • ผู้ให้เช่าไม่สามารถริบเงินประกันหรือค่าเช่าล่วงหน้าโดยที่ไม่ใช่ความผิดของผู้เช่า
  • ผู้ให้เช่าไม่สามารถกำหนดอัตราค่าบริการกระแสไฟฟ้าและน้ำประปาเกินกว่าอัตราที่ผู้ให้บริการกระแสไฟฟ้าและน้ำประปาเรียกเก็บจากผู้ให้เช่า
  • ผู้ให้เช่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอัตราค่าเช่าสิ่งปลูกสร้าง อัตราค่าสาธารณูปโภค และอัตราค่าบริการต่างๆ ก่อนสัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้างจะสิ้นสุดลง
  • ผู้ให้เช่าไม่สามารถเรียกค่าต่อสัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้างจากผู้เช่า ในกรณีที่สัญญาเช่าเดิมสิ้นสุดลงและผู้เช่ามีความประสงค์จะเช่าต่อ
  • ผู้ให้เช่าสามารถเรียกเก็บค่าบริการต่างๆ กับผู้เช่าได้เท่ากับที่ผู้ให้เช่าได้จ่ายไปจริงและมีเหตุผล เท่านั้น
  • ผู้ให้เช่าต้องแจ้งให้ผู้เช่าทราบก่อนล่วงหน้าก่อนการเข้าไปตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างที่เช่า ยกเว้น ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหากไม่ดำเนินการจะเกิดความเสียหายหรือมีผลกระทบต่อผู้ให้เช่าหรือผู้เช่ารายอื่น
  • ผู้ให้เช่าไม่สามารถยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดจากการผิดสัญญาหรือการกระทำละเมิดของผู้ให้เช่าที่เป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีเหตุผลที่สมควรเพียงพอ
  • ผู้ให้เช่าไม่สามารถปิดกั้นไม่ให้ผู้เช่าเข้าใช้ประโยชน์สิ่งปลูกสร้างหรือเข้าไปในปลูกสร้างเพื่อยึดทรัพย์สินหรือขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่า โดยที่ผู้ให้เช่ายังไม่ได้บอกเลิกสัญญาโดยชอบด้วยกฎหมาย
  • ผู้เช่าไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้งานตามปกติต่อทรัพย์สินและอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ของสิ่งปลูกสร้างที่เช่า
  • ผู้เช่าไม่ต้องรับผิดในความเสียหายต่ออาคาร ทรัพย์สิน และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ที่ไม่ใช่ความผิดของผู้เช่า และในเหตุสุดวิสัย
  • ผู้เช่าไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องต่ออาคาร ทรัพย์สิน และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการใช้งานหรือเกิดการเสื่อมสภาพจากการใช้งานตามปกติ
  • ผู้ให้เช่าต้องคืนเงินประกันให้แก่ผู้เช่าทันที เมื่อสัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้างสิ้นสุด
  • ผู้ให้เช่าอาจคืนเงินประกัน ภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันที่สัญญาเช่าสิ้นสุดและผู้ให้เช่าได้กลับเข้าครอบครองสิ่งปลูกสร้างที่เช่าแล้ว ในกรณีที่ผู้ให้เช่ามีการตรวจสอบความเสียหายที่ผู้เช่าต้องรับผิดชอบ
  • ผู้ให้เช่าต้องเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายในการนำส่งคืนเงินประกันให้แก่ผู้เช่าตามวิธีการที่ผู้เช่าแจ้งให้ทราบ ในกรณีที่มีเงินประกันต้องส่งคืน

(ข) ข้อจำกัดด้านรูปแบบ

ข้อจำกัดด้านรูปแบบที่ผู้ให้เช่าและผู้เช่าควรพิจารณา เช่น รูปแบบสัญญา วิธี กระบวนการ การดำเนินการในระหว่างการเช่าสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย โดย ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ได้กำหนดให้ผู้ให้เช่าและผู้เช่า มีสิทธิและ/หรือหน้าที่ ดังต่อไปนี้

  • ผู้ให้เช่าต้องจัดทำสัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้างกับผู้เช่า อย่างน้อยต้องมีข้อความภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้อย่างชัดเจน
  • ผู้ให้เช่าต้องจัดทำสัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้างกับผู้เช่า ที่มีขนาดตัวอักษรไม่เล็กกว่า 2 มิลลิเมตร โดยมีจำนวนตัวอักษรไม่เกิน 11 ตัวอักษรใน 1 นิ้ว
  • ผู้ให้เช่าต้องจัดทำสัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้างกับผู้เช่า โดยเน้นข้อความที่เป็นเงื่อนไขการผิดสัญญาที่ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาไว้เป็นการเฉพาะด้วยตัวอักษรสีแดง หรือตัวสีดำหนา หรือตัวเอนและขีดเส้นใต้ หรือโดยประการอื่นที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป
  • ผู้ให้เช่าต้องจัดทำสัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้างกับผู้เช่า อย่างน้อยต้องระบุรายละเอียดข้อสัญญาในสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
    • รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ให้เช่า เช่น ชื่อและที่อยู่ของผู้ให้เช่าหรือตัวแทนผู้มีอำนาจกระทำการแทน
    • รายละเอียดเกี่ยวกับผู้เช่า เช่น ชื่อและที่อยู่ของผู้เช่าซึ่งที่สามารถติดต่อได้
    • รายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างที่ให้เช่า เช่น ชื่อและสถานที่ตั้งของสิ่งปลูกสร้าง
    • รายละเอียดเกี่ยวกับสภาพของสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงทรัพย์สินและอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ของสิ่งปลูกสร้างที่เช่า
    • กำหนดระยะเวลาเช่าสิ่งปลูกสร้าง โดยระบุวัน เดือน ปี ที่เริ่มต้น และวัน เดือน ปีที่สิ้นสุดการเช่า
    • อัตราค่าเช่าสิ่งปลูกสร้าง และกำหนดระยะเวลาชำระค่าเช่าสิ่งปลูกสร้าง
    • อัตราค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ โดยแสดงวิธีการคำนวณและกำหนดระยะเวลาชำระค่าสาธารณูปโภค
    • อัตราค่าใช้จ่ายในการให้บริการ
    • จำนวนเงินประกันและจำนวนเงินค่าเช่าล่วงหน้า
  • ผู้ให้เช่าต้องจัดทำสัญญาเช่าอย่างน้อย 2 ฉบับ ซึ่งมีข้อความตรงกัน
  • ผู้ให้เช่าต้องส่งมอบสัญญาเช่าอย่างน้อย 1 ฉบับให้แก่ผู้เช่าทันทีที่ได้ลงนามในสัญญาเช่าเรียบร้อย
  • ผู้ให้เช่าต้องจัดทำหลักฐานการตรวจรับสภาพอาคารสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ (ถ้ามี) แนบท้ายสัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้าง พร้อมทั้งส่งมอบให้ผู้เช่าเก็บไว้เป็นหลักฐานหนึ่งฉบับ
  • ผู้ให้เช่าต้องส่งใบแจ้งหนี้ค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภคและรายละเอียดการคิดคำนวณ (เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์) ค่าใช้จ่ายในการให้บริการให้ผู้เช่าทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วันก่อนถึงกำหนดชำระ เพื่อให้ผู้เช่าสามารถตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ที่ผู้ให้เช่าเรียกเก็บดังกล่าว

ผู้ให้เช่าอาจจัดทำ หนังสือขอรับชำระเงิน หรือ หนังสือเตือนชำระค่าเช่าล่าช้า เพื่อเป็นหนังสือแจ้งหนี้ค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค และ/หรือค่าบริการต่างๆ ตามประกาศฉบับดังกล่าว และ ผู้ให้เช่าอาจจัดทำ ใบสำคัญรับเงินค่าเช่า ส่งมอบให้แก่ผู้เช่า เมื่อได้รับการชำระเงินจากผู้เช่า

(3) ข้อจำกัดการบอกเลิกสัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย

ข้อจำกัดการบอกเลิกสัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย ผู้ให้เช่าและผู้เช่าควรพิจารณา เช่น รูปแบบ เงื่อนไข วิธีการ กระบวนการ การดำเนินการบอกเลิกสัญญา โดยประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ได้กำหนดให้ผู้ให้เช่าและผู้เช่า มีสิทธิและ/หรือหน้าที่ ดังต่อไปนี้

  • ผู้ให้เช่าจะสามารถบอกเลิกสัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้างได้ด้วยเงื่อนไขการผิดสัญญานอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในประกาศดังกล่าว โดยต้องระบุและเน้นข้อความที่เป็นเงื่อนไขการผิดสัญญาที่ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาไว้เป็นการเฉพาะที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป
  • ผู้ให้เช่าไม่สามารถบอกเลิกสัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้างกับผู้เช่า โดยผู้เช่าไม่ได้ผิดสัญญาอันเป็นสาระสำคัญข้อหนึ่งข้อใดในสัญญาเช่า
  • ผู้ให้เช่าอาจทำหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญาไปยังผู้เช่าโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ในกรณีที่ ผู้เช่าไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
  • ผู้ให้เช่าอาจทำหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญาไปยังผู้เช่าให้ทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 วัน ในกรณีที่ผู้ให้เช่าบอกเลิกสัญญาอันเกิดจากการกระทำของผู้เช่าที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพักอาศัยร่วมกันโดยปกติสุขกับผู้เช่ารายอื่น
  • ผู้ให้เช่าต้องทำหนังสือบอกกล่าวเลิกสัญญาไปยังผู้เช่าให้ทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน ในกรณีการบอกเลิกสัญญาอื่นๆ นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในประกาศ
  • ผู้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้างก่อนสิ้นสุดระยะเวลาสัญญาเช่าได้ โดยที่ ผู้เช่าจะต้องเช่ามาแล้วอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของระยะเวลาเช่าที่กำหนดทั้งหมดและผู้เช่าต้องไม่ผิดนัดค้างชำระค่าเช่าหรือค่าใช้จ่ายใดๆ และโดยที่ผู้เช่าต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือให้ผู้ให้เช่าทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน

(4) ข้อสังเกตการบังคับใช้ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2561 คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ได้บังคับใช้ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 และต่อมา เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ได้บังคับใช้ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2562 ซึ่งได้ยกเลิกประกาศเดิมทั้งหมด ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียด เงื่อนไข และข้อจำกัดในสาระสำคัญบางประการเกี่ยวกับประกาศดังกล่าว โดยผู้ให้เช่าและผู้เช่าอาจมีข้อพิจารณา ดังต่อไปนี้

  • สัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้างที่จัดทำขึ้นระหว่างผู้ให้เช่าและผู้เช่า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 ถึงวันที่ วันที่ 29 มกราคม 2563 จะต้องใช้บังคับตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 ไปจนกว่าจะสิ้นสุดสัญญานั้น และ
  • สัญญาเช่าสิ่งปลูกสร้างที่จัดทำขึ้นระหว่างผู้ให้เช่าและผู้เช่า ตั้งแต่ วันที่ 30 มกราคม 2563 เป็นต้นไป จะต้องใช้บังคับตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2562

อนึ่ง คู่มือทางกฎหมายฉบับนี้ อธิบายตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และข้อจำกัดของ ประกาศ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ฉบับปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นฉบับปัจจุบัน

แบบฟอร์มและตัวอย่างต่าง ๆ ที่สามารถดาวน์โหลดได้ในรูปแบบ Word และ PDF

ให้คะแนนคู่มือฉบับนี้