สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการหย่า

ปรับปรุงล่าสุด ปรับปรุงล่าสุด26 มกราคม 2021
คะแนน คะแนน 4.2 - 10 คะแนนโหวต

เมื่อคนสองคนมีความรัก มีความผูกพัน และมีความตั้งใจที่จะสร้างครอบครัวร่วมกันแล้ว ก็มักแต่งงานและจดทะเบียนสมรสเพื่อเป็นสามีและภรรยากันตามกฎหมาย โดยหวังว่าจะมีชีวิตครอบครัวที่สงบสุข มีบุตรร่วมกัน อย่างไรก็ดี การอยู่ร่วมกันของคนมากกว่าหนึ่งคน ไม่ว่าจะในรูปแบบความสัมพันธ์ใดๆ ย่อมต้องเกิดความขัดแย้งขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ ไม่ว่ามากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับว่าคู่สมรสคู่นั้นสามารถปรับปรุง แก้ไข และ/หรือยอมรับกันได้มากน้อยเพียงใด รวมถึงปัญหาที่พบได้เป็นประจำคือการนอกใจคู่สมรสของตนเอง เมื่อถึงจุดที่ไม่สามารถปรับปรุง แก้ไข และ/หรือยอมรับ รวมถึงให้อภัยซึ่งคู่สมรสอีกฝ่ายกันได้อีกต่อไป การแยกทาง การสิ้นสุดการสมรส หรือการหย่าอาจเป็นทางออกสุดท้ายของคู่สมรสนั้น

ในบางกรณี คู่สมรสอาจไม่ได้เลือกที่จะหย่าขาดจากกันในทันทีที่เกิดปัญหา แต่อาจเลือกที่จะแยกกันอยู่ เพื่อให้เวลาแต่ละฝ่ายพยายามปรับปรุงแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้นก่อนที่จะพิจารณาหย่าขาดกันอีกที ซึ่งการแยกกันอยู่ คือการที่คู่สมรสไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันฉันสามีภริยา โดยสถานะทางกฎหมายของทั้งคู่ก็ยังถือเป็นสามีและภรรยา หรือคู่สมรสกันอยู่ กล่าวคือ การแยกกันอยู่ไม่ได้ทำให้การสมรสสิ้นสุดลงแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี การสมัครใจแยกกันอยู่ก็อาจเป็นเหตุและเงื่อนไขในการฟ้องหย่าได้

อย่างไรก็ดี ก่อนที่คู่สมรสจะเลือกสิ้นสุดการสมรสโดยการหย่าขาดจากกัน คู่สมรสแต่ละฝ่ายอาจต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่ตามมาในด้านต่างๆ หลังจากการแยกทางกันแล้วว่าการหย่าดังกล่าวจะไม่เป็นการก่อปัญหาใหม่ที่ใหญ่และหนักกว่าเดิมหรือไม่ ดังต่อไปนี้

  • ​ภาระด้าน​การ​เงิน
  • ภาระหน้าที่งานบ้านต่างๆ
  • สถานที่อยู่อาศัยหลังจากแยกกันอยู่
  • ในกรณีที่มีบุตรร่วมกัน ผลกระทบต่อจิตใจและความรู้สึกของบุตรและความ​สัมพันธ์ระหว่างบุตร​กับผู้เป็นพ่อแม่

ลักษณะของการหย่า

โดยทั่วไปการหย่าสามารถทำได้ 2 แบบ คือ

(ก) การหย่าด้วยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย

โดยที่ การหย่าด้วยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย จะมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

  • เป็นความตกลงร่วมกันของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย
  • ต้องมีการจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรตามแบบที่กฎหมายกำหนด (เช่น บันทึกข้อตกลงการหย่า)
  • ต้องนำบันทึกข้อตกลงการหย่าไปจดทะเบียนการหย่ากับนายทะเบียนที่รับผิดชอบ (เช่น สำนักงานเขต อำเภอ หรือสถานกงสุล) จึงจะมีผลสมบูรณ์
  • ไม่ผ่านกระบวนการทางศาลทำให้ลดขั้นตอน ระยะเวลา และค่าใช้จ่ายในกระบวนการหย่าได้อย่างมาก

ในกรณที่คู่สมรสมีการจัดทำสัญญาก่อนสมรส (Prenuptial Agreement) ข้อตกลง/เงื่อนไขต่างๆ ที่จะตกลงกันในบันทึกข้อตกลงการหย่า ก็ควรจะต้องสอดคล้องกับข้อสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้าดังกล่าวด้วย เว้นแต่ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายยินยอมให้มีข้อตกลงที่แตกต่างไปจากสัญญาก่อนสมรสนั้น

(ข) การหย่าด้วยคำพิพากษาของศาล

การหย่าด้วยคำพิพากษาของศาลหรือการฟ้องหย่ามักเป็นทางเลือกในกรณีที่คู่สัญญาไม่สามารถตกลงหย่ากันได้ เช่น ในกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มีความประสงค์จะหย่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมรับกับเงื่อนไขที่อีกฝ่ายต้องการได้ หรือคู่สัญญาไม่อยู่ในสถานะความสัมพันธ์ที่สามารถติดต่อ พูดคุย หรือเจรจากันได้แล้ว โดยคู่สมรสฝ่ายที่ประสงค์จะขอหย่าจะต้องฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษา โดยจะต้องสามารถพิสูจน์เหตุแห่งการฟ้องหย่าให้ได้อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • คู่สมรสอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นประจำ
  • คู่สมรสประพฤติชั่วเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง (ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง (ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชัง หรือ (ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินแก่กรณี
  • คู่สมรสทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นอย่างร้ายแรง
  • คู่สมรสจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี
  • คู่สมรสต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกิน 1 ปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร
  • คู่สมรสสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกิน 3 ปี
  • คู่สมรสถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกิน 3 ปีโดยไม่มีใครทราบหรือติดต่อได้
  • คู่สมรสไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรงถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินแก่กรณี
  • คู่สมรสวิกลจริตตลอดมาเกิน 3 ปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้และถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้
  • คู่สมรสผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ
  • คู่สมรสเป็นโรคติดต่อเรื้อรังอย่างร้ายแรงที่ไม่มีทางที่จะหายได้ซึ่งอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่ง
  • คู่สมรสมีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดไป

โดยที่ เมื่อคู่สมรสต่างได้พิเคราะห์พิจารณาถึงผลกระทบจากการหย่าร้างกันแล้ว มีความประสงค์จะสิ้นสุดการสมรสโดยการหย่าขาดจากกันด้วยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย คู่สมรสอาจมีข้อพิจารณาในการหย่า ดังต่อไปนี้

(1) การจัดการสินสมรส

คู่สมรสควรพิจารณาตกลงแบ่งทรัพย์สินต่างๆ ที่เป็นสินสมรส (เช่น ทรัพย์สินที่ได้มาหรือหนี้สินที่ร่วมกันก่อขึ้นในระหว่างการสมรสซึ่งไม่ใช่เครื่องใช้ส่วนตัวหรือที่กันไว้เป็นสินส่วนตัว) ว่าทรัพย์สินดังกล่าวจะแบ่งให้คู่สมรสฝ่ายใด เท่าใด และอย่างไร โดยที่

  • ทรัพย์สิน เช่น บ้านที่ดิน รถยนต์ เงินสด หรือสิทธิในทรัพย์สินต่างๆ
  • หนี้สิน เช่น หนี้บัตรเครดิต ค่างวดบ้าน สินเชื่อธุรกิจที่คู่สมรสนั้นร่วมกันก่อขึ้นในขณะสมรส

(2) การกำหนดอำนาจการปกครองบุตร

ในกรณีที่คู่สมรสมีบุตรร่วมกัน คู่สมรสควรพิจารณาตกลงกำหนดผู้มีอำนาจปกครองดูแลบุตรว่าจะให้เป็นอำนาจของคู่สมรสฝ่ายใด และอย่างไร เช่น ให้สิทธิฝ่ายบิดาหรือมารดาเพียงผู้เดียว หรือจะใช้อำนาจปกครองร่วมกันโดยกำหนดแผนการเลี้ยงดูและปกครองร่วมกัน ซึ่งไม่ว่ากรณีใด คู่สมรสควรคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ

โดยที่ ผู้มีอำนาจปกครองบุตรย่อมมีสิทธิปกครองดูแลบุตร เช่น

  • การปกครองดูแล
  • การเลี้ยงดู
  • การเลือกนับถือศาสนาหรือการศึกษา
  • การกำหนดที่อยู่
  • การอบรมสั่งสอน ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน
  • การให้ทำการงานตามสมควร เช่น งานบ้าน

โดยบุตรที่บิดามารดายังคงต้องปกครองดูแลอยู่ได้แก่

(ก) บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (เช่น ผู้เยาว์อายุไม่ถึง 20 ปี) และ
(ข) บุตรที่ทุภพลภาพหาเลี้ยงตนเองไม่ได้ (เช่น ผู้พิการทางร่างกายหรือสมอง) ไม่ว่าจะอายุเท่าใด

(3) สิทธิการ​เยี่ยมเยือน​บุตร

ในกรณีที่คู่สมรสมีบุตรร่วมกันและได้ตกลงให้คู่สมรสเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสิทธิปกครองดูแลบุตร อาจกำหนดสิทธิการ​เยี่ยมเยือน​บุตรให้แก่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ตามสมควร เช่น วันและเวลา​เยี่ยมเยือน​ เงื่อนไขการเยี่ยมเยือน โดยที่คู่สมรสอีกฝ่ายต้องมีสิทธิที่จะติดต่อกับบุตรของตนได้ตามสมควรแก่พฤติการณ์นั้นๆ

(4) ค่าอุปการะเลี้ยงดูคู่สมรสและ/หรือบุตร

คู่สมรสควรพิจารณาตกลงว่าจะมีคู่สมรสฝ่ายใดรับผิดชอบจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูคู่สมรสให้อีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ เป็นจำนวนเท่าใด อย่างไร จ่ายเมื่อใด และจะจ่ายเป็นระยะเวลาเท่าใด โดยค่าอุปการะเลี้ยงดูคู่สมรสเป็นเงินที่จ่ายเพื่อให้ใช้ในการดำรงชีวิตของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งที่อาจมีภาระหรือปัญหาทางการเงินหลังจากแยกทางกัน รวมถึงค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ในกรณีที่คู่สมรสมีบุตรร่วมกันด้วย

(5) เงินค่าทดแทน

ในกรณีที่คู่สมรสหย่ากันเนื่องจากคู่สมรสอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นประจำ คู่สมรสฝ่ายที่เสียหายย่อมมีสิทธิเรียกเงินค่าทดแทนจากการที่คู่สมรสประพฤติผิดดังกล่าวได้อีกด้วย คู่สมรสควรพิจารณากำหนดตกลงเงินค่าทดแทนว่าเป็นจำนวนเท่าใดและจ่ายเมื่อใด อย่างไร

(6) การจดทะเบียนหย่า

ตามที่ได้กล่าวข้างต้น กฎหมายครอบครัวประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดให้การหย่าจะมีผลสมบูรณ์เมื่อได้จดทะเบียนการหย่า ดังนั้นเมื่อคู่สมรสได้จัดทำบันทึกข้อตกลงการหย่าตามแบบที่กฎหมายกำหนดแล้วจะต้องนำบันทึกข้อตกลงการหย่านั้นไปจดทะเบียนหย่าตามกฎหมายกับนายทะเบียน (เช่น ผู้อำนวยการเขต ปลัดเทศบาล นายอำเภอ หรือผู้รักษาราชการแทน) ที่สำนักทะเบียน (เช่น สำนักงานเขต เทศบาล อำเภอ สถานทูตหรือสถานกงสุล) แล้วแต่กรณี โดยการจดทะเบียนหย่านั้น คู่สมรสอาจ

(ก) จดทะเบียนหย่าในสำนักทะเบียนเดียวกัน โดยที่คู่สมรสต้องไปพร้อมกันทั้งสองฝ่าย หรือ
(ช) จดทะเบียนหย่าต่างสำนักทะเบียน โดยที่คู่สมรสไม่จำเป็นต้องไปพร้อมกันทั้งสองฝ่าย โดยให้แต่ละฝ่ายต่างไปจดทะเบียนหย่า ณ สำนักทะเบียนที่ตนสะดวก

เมื่อได้จดทะเบียนหย่าเรียบร้อยแล้ว คู่สมรสหรือคู่หย่าในขณะนั้นจะได้รับ ใบสำคัญการหย่า ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญทางกฎหมายซึ่งใช้รับรองการหย่าและสิทธิต่างๆ ของคู่หย่านั้น

โดยสิ่งที่จะต้องเตรียมเพื่อใช้ในการจดทะเบียนหย่า ได้แก่

  • บัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านของทั้งสองฝ่าย
  • ใบสำคัญการสมรส
  • บันทึกข้อตกลงการหย่า
  • พยานบุคคลจำนวน 2 คน โดยพยานจะต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป และบัตรประจำตัวประชาชนของพยาน

ในกรณีที่มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงการหย่าตามแบบที่กฎหมายกำหนดแล้ว แต่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ยอมไปจดทะเบียนการหย่าตามที่ตกลงกัน คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งก็สามารถฟ้องศาลให้บังคับให้คู่สัญญาฝ่ายนั้นไปจดทะเบียนหย่าได้

แบบฟอร์มและตัวอย่างต่าง ๆ ที่สามารถดาวน์โหลดได้ในรูปแบบ Word และ PDF

ให้คะแนนคู่มือฉบับนี้